รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 พฤศจิกายน) เวลา 09.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 หรือ ศบค. เป็นประธานการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ โดยจะมีการรายงานสถานการณ์จากหน่วยงานต่างๆ ดังต่อไปนี้
ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศปก.สธ. จะรายงานสถานการณ์ และแนวโน้มการแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อพร้อมกับแผนการให้บริการฉีดวัคซีน และยา
ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบค.ส่วนหน้า จะรายงานผลการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา หรือ ศปก.ด้านการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จะรายงานผลการดำเนินงานและแผนการเปิดประเทศ รวมถึงการจัดหาเว็บไซต์หลักของประเทศไทย www.thailand.go.th
กระทรวงแรงงาน จะรายงานสถานการณ์แรงงานในประเทศ และความก้าวหน้า ในการนำแรงงานเข้าประเทศ
วาระเพื่อพิจารณา ทาง ศปก.สธ. จะเสนอให้ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ พิจารณาปรับมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 เกี่ยวกับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย และเสนอให้พิจารณาปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร มาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด ในส่วนของกิจการและสถานบันเทิง
ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง หรือ ศปม. และสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. จะเสนอให้ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ครั้งที่ 15) ก่อนหน้านี้ระยะเวลาตั้งแต่ 1 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2564
สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ของประเทศไทย ขณะนี้มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตลดลง วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,335 ราย สะสม 2,081,572 ราย หายป่วยกลับบ้านได้ 7,218 ราย หายป่วยสะสม 1,987,089 ราย
ขณะที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด 19 ขณะนี้ฉีดไปแล้ว 90,468,955 โดส ครอบคลุมประชากร 47 ล้านคน จากกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอีก 3 ล้านคน จึงมีการกำชับให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการฉีดวัคซีน
โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงขยายการฉีดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยตั้งเป้าหมายครบ 100 ล้านโดส ในเดือนพฤศจิกายนนี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ กระทรวงสาธารณสุข จะเสนอมาตรการเปิดประเทศระยะที่ 2 หลังจากเดือน ธ.ค. น่าจะมีมาตรการผ่อนคลายประเทศให้มีความสะดวกมากกว่าขึ้น เช่นการใช้ ATK มากขึ้น เมื่อเดินทางมาที่ประเทศไทยไม่ต้องตรวจแบบRT-PCR แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ศบค. ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวไปก่อนหน้านี้
ส่วนกรณีที่ยุโรปมีการล็อกดาวน์กันหลายประเทศ กระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมพร้อมอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า มาตรการของยุโรป ไม่เหมือนของไทย
“เรายังไม่เปิดดูฟุตบอลในสนาม 5-6 หมื่นคน อัตราการฉีดวัคซีนของไทยสูงกว่า ดังนั้นจึงนำมาเทียบกันไม่ได้ อย่างการเข้าประเทศไทยก็เข้มข้น ทำให้มั่นใจว่า หากไม่ใช่ลักลอบเข้าเมือง ก็ตรวจสอบเจอเพื่อเข้าสู่การรักษา โดยงบประมาณไม่ต้องเสียเพราะมีประกันสุขภาพแต่หากไทยจะล็อกทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดเคสเลย แต่ทำอะไรไม่ได้เลย ผู้คนทำมาหากินไม่ได้ เศรษฐกินเดินไม่ได้ มันก็ไม่ได้ เราต้องหาวิธีการที่ทุกมิติเดินไปได้”
เเละกระทบตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาในประเทศไทยหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า การที่ปิดประเทศ ก็ต้องมีผลระดับหนึ่ง เนื่องจากไม่ให้คนเข้าออก แต่ของไทยเปิดให้คนเข้ามาประเทศ ภายใต้กฎเกณฑ์ที่วางไว้ ก็สามารถเข้ามาได้
ส่วนผับบาร์ คาราโอเกะ จะผ่อนคลายอย่างไร หลังผู้ประกอบการเรียกร้องให้เปิดวันที่ 1 ธ.ค. นี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ขอให้ดำเนินการมาตรการโควิดฟรีเซ็ตติ้ง ให้ผู้ประกอบการฉีดวัคซีนให้พนักงาน ตรวจสอบลูกค้าต้องฉีดวัคซีนให้ครบโดสก่อนเข้าร้าน หากทำกันได้ แสดงให้เห็นว่าทำได้ ก็พร้อมผ่อนคลาย ตอนนี้ยังไม่ใช่ หากพนักงานไม่ฉีดวัคซีนถือว่าน่ากลัวมาก เป็นสิ่งที่ตนขอให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย เร่งทำความเข้าใจให้มีมาตรการตรงนี้ให้เข้มข้นที่สุด
กรณีนายกฯแสดงความกังวลสถานบันเทิงมีคลัสเตอร์สถานบันเทิงเกิดขึ้น นายอนุทิน กล่าวว่า นายกฯ กังวลมาก ทั้งที่เรื่องความเสี่ยงติดเชื้อ การทำมาหากิน โดยมีการสั่งการมาตลอด และวันนี้พึ่งมาการเซ็นสัญญาซื้อวัคซีน และ ยา เพิ่มเข้ามา ทำให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลในการตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และ ประชาชน จะได้เร่งกลับมาทำมาหากินในทุกมติ
สถานบันเทิงแอบเปิดใจกลางเมืองกรุง กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีคลัสเตอร์ มีการระบาดใหญ่ และความสูญเสีย ไม่ได้มาจากการทำกระทำที่ถูกกฎหมาย ส่วนใหญ่มาจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ลับลอบกระทำในสิ่งที่รัฐได้พยายามขอร้องให้ปฏิบัติตาม
“ตรงนี้เป็นเรื่องสำนึก และสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องเร่งไปจัดการให้เรียบร้อย ถ้าผู้คนให้ความร่วมมือเหมือนช่วงนี้ของปีก่อน ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อ และตายมา6 เดือน พอมีการผิดกฎหมาย ความวิบัติต่างๆก็ตามมา รัฐพยายามให้มีมาตรการทุกเรื่องเพื่อความสะดวก แต่ถ้ามีคนทำนอกมาตรการ ก็น่าเสียดายโอกาสต่างๆ เกิดเหตุอะไรขึ้นมา ก็ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นไปเพื่อแลกกับความปลอดภัย โดยเราพยายามทำให้ดีที่สุด”
เมื่อถามว่าต้องขยายเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า กรณีโควิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป แต่เป็นการบูรณาการ การทำงานของหน่วยงานต่างๆ