หนีโอมิครอนไม้พ้น คนไทยต้องติดเชื้อเกือบทุกคน หมอธีระวัฒน์เปิด 5 ข้อบ่งชี้

28 ธ.ค. 2564 | 01:44 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2564 | 08:44 น.

หนีโอมิครอนไม้พ้น คนไทยต้องติดเชื้อเกือบทุกคน หมอธีระวัฒน์เปิด 5 ข้อบ่งชี้ ระบุเป็นการติดตามสถานการณ์ และควบรวมกับคุณสมบัติของไวรัส จาก นักวิเคราะห๋อังกฤษ หลายท่าน รวมถึง ดร จอห์น แคมปเบล

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
ชะตาโอมิครอน (Omicron)
คนไทยอย่างไรก็ติดโอมิครอน ไม่ช้าก็เร็ว ทั่วหรือเกือบทุกคน ขึ้นกับ
1.ระยะเวลาหลังได้วัคซีน แม้เป็นวัคซีนที่คิดว่าดีที่สุดเช่น ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 3 เข็ม ซึ่งแรงกว่า แอสตร้าเซนเนก้า 3 เข็ม มากกว่า 10 เท่า 
เมื่อพ้นสามเดือนไปแล้วประสิทธิภาพจะตกลงเหลือ 40% ตามข้อมูลของไฟเซอร์

2.ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนแม้เคยติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) มาก่อน ก็ติดโอมิครอนได้

3.การฉีดกระตุ้นขณะนี้ เป็นการหน่วงให้ไม่มีการติดเชื้อ มโหฬารทันทีทันใด เช่นเป็น 10,000 เป็นแสน เป็นล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้จะมีคนที่ไม่ได้รับวัคซีนปนอยู่ด้วย หรือแม้แต่ได้วัคซีนแต่ตกอยู่ในกลุ่มสูงอายุหรือมีโรคประจำตัว ซึ่งทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง และทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนต้องเข้าโรงพยาบาล ไอซียู ในจำนวนมากพร้อมๆกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ คนที่ได้รับวัคซีน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน ถ้าไม่เปราะบางจริงๆ เมื่อติดโอมิครอน หวังว่าอาการจะผ่อนหนักเป็นเบา ขึ้นกับระบบภูมิความจำ “ยังมีอยู่” หรือถูกปลุกขึ้นมาทันท่วงที ถูกที่ ทันเวลาได้หรือไม่?
4.ในเมื่อวัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงอย่างมาก วิธีการฉีดต้องทำให้มีผลแทรกซ้อนน้อยที่สุดโดยการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ที่ใช้ปริมาณน้อย และผ่านคนละกลไกกับแบบเข้ากล้าม ถ้า เกิด “ซวย” ก็ซวยน้อยหรือรอดเลย

คนไทยต้องติดโอมิครอนเกือบทุกคน
5.ยาที่จะใช้รักษาตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อมีการติดเชื้อไม่ให้ต้องเข้า โรงพยาบาล มีความจำเป็น และมีความสำคัญ พอกันหรืออาจจะมากกว่าวัคซีนด้วยซ้ำ ฟ้าทลายโจร ไอเวอร์แมคติน ฟลูวอกซามีนหรือฟลูออกซิทีน
หมายเหตุ: การติดทุกคนในพื้นที่ ทั้งประเทศ มาจากการติดตามสถานการณ์ และควบรวมกับคุณสมบัติของไวรัส จาก นักวิเคราะห๋อังกฤษ หลายท่าน รวมถึง ดร จอห์น แคมปเบล

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามสถานการณ์การติดเชื้อของไวรัสโอมิครอนในประเทศไทยจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ขณะนี้มียอดผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเป็น 514 รายแล้ว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และอีก 1 ใน 3 เป็นการสัมผัสกับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ส่วนใหญ่ในภาพรวมแล้วมีอาการไม่มาก เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่มีอาการของเชื้อลงปอด โดยพบว่า 54% มีอาการไอ รองลงมา 37% มีอาการเจ็บคอ และพบว่ามีไข้เพียง 29%