จากการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ ช่วงวันที่ 1 พ.ย.64 - 4 ม.ค.65 พบว่า เป็นสายพันธุ์เดลต้า 78.91% และเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 20.92% ถ้าเป็นผู้ป่วยอยู่ที่ 2338 ราย ซึ่งขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนกระจายไปใน 55 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีการติดเชื่อและระบาดภายในจังหวัด ได้แก่ กทม. กาฬสินธุ์ ชลบุรี ร้อยเอ็ด ภูเก็ต และสมุทรปราการ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเตรียมแผนรับมืออย่างเต็มที่
รายงานข่าวจากกรมการแพทย์ เรื่องการเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลรองรับการระบาด COVID-19 (Omicron) ระบุว่า ขณะนี้กรมการแพทย์ได้เตรียมความพร้อมรองรับผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นทั่วประเทศมีการประมาณการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่มีความรุนแรงจำนวน 1.1 หมื่นเตียง
แบ่งเป็น เตียงระดับ 2.2 จำนวน 6,000 เตียง เตียงระดับ 3 จำนวน 5,000 เตียง รองรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่มีอาการรุนแรง นอนโรงพยาบาล 14 วัน ซึ่งพบว่าในช่วงที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อโอมิครอน พบอาการความรุนแรง 1.5% เตียงรองรับการระบาดผู้ติดเชื้อโอมิครอน เป็นจำนวน 5.23 หมื่นคนต่อวัน
ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีการประมาณการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่มีความรุนแรงจำนวน 1,760 เตียง แบ่งเป็นเตียงระดับ 2.2 จำนวน 1,264 เตียง เตียงระดับ 3 จำนวน 496 เตียง รองรับผู้ติดเชื้อได้ 8,300 คนต่อวัน
โดยแบ่งระดับเตียง ตามความรุนแรงของโรค เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม ได้แก่
เตียงระดับ 0 : Home isolation & community isolation
เตียงระดับ 1 : ไม่ใช้ oxygen
เตียงระดับ 2
+ เตียงระดับ 2.1 : ใช้ oxygen low flow
+ เตียงระดับ 2.2 : ใช้ oxygen high flow
เตียงระดับ 3 : ใส่ท่อ & เครื่องช่วยหายใจได้
ขณะที่อัตราการครองเตียงในช่วงที่ผ่านมาในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า มีเตียงทั้งหมด 2,712 เตียง ครองเตียงทั้งหมด 268 เตียง เตียงว่าง 2,444 เตียง อัตราการครองเตียง 9.88%