โอละพ่อ! โอมิครอนยังไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้าย WHO เตือนยังไม่จบ

19 ม.ค. 2565 | 05:38 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2565 | 12:38 น.

โอละพ่อ โอมิครอนยังไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้าย WHO เตือนยังไม่จบ ชี้ติดเชื้อทั่วโลกที่ระดับสูงมีแนวโน้มจะนำไปสู่การกลายพันธุ์เป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

ต่อกรณีที่หลายองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านโรคระบาดทั้งใน และต่างประเทศได้ออกมาแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) จะยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19)

 

 

เพราะมีการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่มีอาการรุนแรงน้อยกว่า โดยหากทุกคนรติดเชื้อก็เท่ากับว่าเป็นการสร้างภูมิตามธรรมชาติ และสุดท้ายโควิด-19 ก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปในที่สุด

 

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโควิด-19  สายพันธุ์โอมิครอน จะไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้ายในการแพร่ระบาดครั้งนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในบางประเทศจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม 

 

 

พร้อมเตือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ระดับสูงมีแนวโน้มจะนำไปสู่การกลายพันธุ์เป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

 

 


 

แพทย์หญิงมาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าด้านเทคนิคของ WHO กล่าวว่า กำลังได้ยินผู้คนจำนวนพูดว่า โอมิครอนจะเป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์สุดท้ายและทุกอย่างจะจบลงหลังจากนี้ และนั่นไม่จริง เพราะไวรัสนี้กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงทั่วโลก

 

 

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 20% ทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมเกือบ 19 ล้านราย 
 

 

 

อย่างไรก็ดี แพทย์หญิงแวน เคอร์คอฟ ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่ไม่ได้รายงานอาจทำให้จำนวนตัวเลขจริงสูงกว่านี้มาก

 

 

โอมิครอนไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้าย

 

 

แพทย์หญิงแวน เคอร์คอฟ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น การสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างทางสังคม

 

 

พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับมาตรการดังกล่าวเพื่อควบคุมโควิด-19 ให้ดีขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคตเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น

 

 

 

ดร.บรูซ ไอล์วาร์ด เจ้าหน้าที่อาวุโสของ WHO เตือนว่า การแพร่ระบาดที่ระดับสูงทำให้ไวรัสมีโอกาสมากขึ้นที่จะแบ่งตัวและกลายพันธุ์ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่

 

 

"เรายังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงถึงผลที่ตามมาของการปล่อยให้สิ่งนี้ดำเนินต่อไป โดยจนถึงตอนนี้ สิ่งที่เห็นส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้นั้นคือการเผชิญกับไวรัสสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ และความไม่แน่นอนครั้งใหม่ที่เราต้องรับมือเมื่อเราก้าวไปข้างหน้า"

 

 

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยล่าสุดวันที่ 19 มกราคม 2565 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 7,122 ราย  

 

 

ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 121,498 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 12 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,460 ราย กำลังรักษา 81,602 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 72,869 ราย