รายงานจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 24,719 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 646,4181 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 42 ราย หายป่วยเพิ่ม 16,875 ราย กำลังรักษา 208,846 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 469,385 ราย
DDC Covid-19 Interactive Dashboard กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 อัพเดทวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.48 น. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,719 ราย สะสม(ตั้งแต่ปี 63) 2,869,616 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่ 42 ราย เสียชีวิตสะสม 22,891ราย รักษาหายเพิ่ม 16,875 ราย กำลังรักษา 208,846 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 955 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 268 ราย ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 15,708 ราย สะสม 708,132 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษาจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศ ทำให้มีความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม ได้มีการบริหารจัดการสำรอง "ยาฟาวิพิราเวียร์"(Favipiravir) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว
โดยอภ.มีการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์จำนวน 24 ล้านเม็ด และทำการการผลิตเพิ่มเติมอีก จำนวน 60 ล้านเม็ด รวมการสำรองทั้งสิ้น 84 ล้านเม็ด เพื่อกระจายสู่หน่วยบริการแม่ข่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จำนวนดังกล่าว เป็นการสำรองอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม นอกจากนี้ยังมีการสำรองไว้ที่หน่วยบริการต่างๆทั่วประเทศอีกจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งหมดได้จัดสรรให้กับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลแม่ข่ายต่างๆ ตามการบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) โดยกลุ่มภารกิจสำรองเวชภัณฑ์และส่งกำลังบำรุง โดยองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งกระจายตามการจัดสรรให้กับหน่วยบริการแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นหน่วยงานแม่ข่ายจะทำการบริหารจัดการและกระจายให้แก่หน่วยบริการลูกข่ายในแต่ละพื้นที่ต่อไป