รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อน น้ำแข็งละลายที่ขั้วโลกเหนือส่งผลให้เกิดกระแสลมเย็นมายังแทบเส้นศูนย์สูตรอย่างรวดเร็ว เป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "Polar Vortex" อากาศที่เย็นลงในไทยอย่างฉับพลันนี้เป็นผลจากภาวะโลกร้อน ไม่ใช่ปัญหาภาวะโลกร้อนดีขึ้นแต่อย่างใด
กระแสลมวนที่เรียกว่า Polar Vortex ที่ไม่สมดุลนี้ได้พัดพาเอาอากาศที่เย็นจากน้ำแข็งที่ละลายไปยังภูมิภาคอื่นของโลก ความไม่สมดุลของกระแสลมวนเหนือภูมิอาร์กติกนี้ทำให้อุณหภูมิของภูมิภาคอาร์กติกสูงขึ้น
ขณะที่พื้นที่อื่นของโลกอุณหภูมิต่ำลงอย่างฉับพลันจาก Polar Vortex ที่ไม่สมดุลและแปรปรวนอันเกิดจากปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) นั่นเอง
ไทยจึงควรมีบทบาทร่วมกับประชาคมโลกในการลดภาวะโลกร้อน รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเอาการเอางาน ความแปรปรวนจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงล่าสุดอาจส่งกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจไทยได้หากไม่เตรียมรับมือให้ดี อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว พายุฤดูร้อนและฝนตกหนักในหลายพื้นที่อาจทำให้พืชผลเกษตรได้รับความเสียหาย และ เกิดภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งสลับกันได้
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องของ Polar Vortex เกิดจากการที่มีสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ข้อความและภาพ "สาเหตุ" ที่อุณหภูมิทั่วไทยลดลง อากาศแปรปรวน หนาวเย็น - ฝนตก หรืออากาศหนาวเย็น ช่วงฤดูร้อน เดือน เมษายน 2565 โดยผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ว่า เป็นผลจากปรากฎการณ์ Polar Vortex ทำให้เย็นวูบวาบ กระแสลมโลกเบี่ยงทิศ ผลพ่วงปัญหาโลกร้อนที่ต้องเร่งแก้ไขนั้น
อย่างไรก็ดี ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงวันที่ 1-3 เมษายน 2565 เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน
ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน (กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน วันที่ 2 มีนาคม 2565) ซึ่งโดยทั่วไป อุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงกลางวันอากาศร้อนถึงร้อนจัดในบางวัน และมักจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ส่วนความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น ที่เคยปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงฤดูหนาวจะอ่อนกำลังลง และถอยกลับไปปกคลุมบริเวณประเทศจีน แต่ยังมีบางช่วงที่มีมวลอากาศเย็นดังกล่าว แผ่ลงมาปกคลุมได้เป็นระยะ ๆ ขึ้นอยู่กับความแรงของมวลอากาศ
หากมวลอากาศเย็นดังกล่าว มีกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบน มักจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน
หลังจากนั้น อุณหภูมิจะลดลง และมีลมแรง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน แต่จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ 2-3 วันเท่านั้น
ส่วนปรากฎการณ์ Polar Vortex ที่อ้างถึงดังกล่าว มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย เพราะกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก จะมีเทือกเขาสูงกรีดขวางเป็นอุปสรรคคือเทือกเขาหิมาลัย
ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูง ทำให้ทิศทางลมของกระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไป โอกาสที่นำความหนาวเย็นจากขั้วโลก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก
ดังนั้น อุณหภูมิที่ลดลงในระยะนี้ จึงไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) ดังกล่าวแต่อย่างใด