โควิดวันนี้รวมatk ตัวเลขยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)ที่ติดต่อได้ง่าย และรวดเร็ว
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1845 คน เป็น 1,971 คน เพิ่มขึ้น 6.82%
ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 782 คน เป็น 834 คน เพิ่มขึ้น 6.64%
จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 25.62% และน้อยกว่าสองสัปดาห์ก่อน 25.03%
บุคลากรทางการแพทย์ติดเพิ่มอีกถึง 348 คน (ชาย 64, หญิง 284)
กทม.ติดสูงสุด 92 คน รองลงมาคือมหาสารคาม 56 คน และขอนแก่น 26 คน
หมอธีระยังโพสต์ด้วยว่า
อัพเดตจาก WHO
ล่าสุดทางองค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Update วันที่ 12 เมษายน 2565 เมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อน
จำนวนติดเชื้อใหม่ทั่วโลกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ลดลง 24% และจำนวนเสียชีวิตลดลง 18% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
ในขณะที่หากดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 8% จำนวนเสียชีวิตลดลง 15%
อย่างไรก็ตามหากดูของไทยเราจากข้อมูลของ Worldometer เช้านี้จะพบว่า
จำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 7% แม้จะดูน่าดีใจว่าจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ลดลง
แต่เป็นเพียงตัวเลขรายงานทางการ RT-PCR เท่านั้น โดยหากเรารวมยอด ATK ไปด้วยจะพบว่า จำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์นั้นเพิ่มขึ้น 2.57% โดยที่จำนวนการเสียชีวิตก็ยังเพิ่มขึ้น 7%
สายพันธุ์ที่ระบาด
WHO รายงานว่า Omicron ยังเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดทั่วโลกโดยมีสัดส่วนถึง 99.2% โดยมีสายพันธุ์เดลต้าเหลือน้อยกว่า 0.1% และสายพันธุ์อื่นๆ อีกราว 0.8%
สำหรับ Omicron นั้น สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่อยู่ในระบบเฝ้าระวังคือ BA.1, BA.2, BA.3, BA.4, BA.5 และรวมถึงสายพันธุ์ผสมต่างๆ เช่น XE (ที่เกิดจากการผสมระหว่าง BA.1 และ BA.2)
โดยที่สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมทั้งที่ส่วนหนามและนอกส่วนหนาม โดยบางตำแหน่งเช่น L452R และ F486V อาจส่งผลให้ไวรัสดื้อต่อภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ทั้งนี้ทั้งสองสายพันธุ์ย่อยนี้มีลักษณะการหายไปของตำแหน่ง 69-70 ที่ส่วนหนาม ทำให้เกิด S Gene Target Failure (SGTF) ซึ่งน่าจะสามารถใช้แยกจาก BA.2 ได้จาก RT-PCR