โควิดวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)ที่ติดต่อได้ง่าย และรวดเร็ว
น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ข่าวดี !! สหรัฐฯรับรองเครื่องมือตรวจโควิดทางลมหายใจเป็นครั้งแรกของประเทศแล้ว ทราบผลใน 3 นาที ความไว 91.2% ความจำเพาะเจาะจง 99.3%
หลังจากที่โควิดระบาดทั่วโลกต่อเนื่องกันมากว่า 2 ปี ทำให้มีความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องมือด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะตรวจหาผู้ติดเชื้อให้เป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
แต่ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะต้องเป็นการเก็บตัวอย่างจากจมูก ซึ่งสร้างความรำคาญหรือไม่สะดวก ให้กับทั้งผู้ตรวจและผู้ถูกตรวจ
ต่อมาเริ่มมีการพัฒนาการตรวจน้ำลายในระยะหลังบ้าง แต่ก็ยังไม่มีการใช้ที่กว้างขวางมากนัก
ล่าสุดนี้อย.สหรัฐอเมริกา(USFDA) ได้อนุมัติเครื่องตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดทางลมหายใจเป็นครั้งแรกแบบฉุกเฉิน (EUA) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2565
เครื่องดังกล่าวชื่อว่า InspectIR Covid19 Breathalyzer โดยใช้หลัก การหรือเทคโนโลยีที่เรียกว่า GC-MS (Gas Chromatography gas mass-spectrometry)
ซึ่งจะทำการแยกสาร 5 ชนิดของไวรัสที่ออกมาพร้อมกับลมหายใจ (5 VOCs : Volatile Organic Compounds)
จากการทดลอง 2400 ตัวอย่าง ทั้งผู้มีอาการและไม่มีอาการโควิด พบว่าความไวในการตรวจพบ 91.2% และความจำเพาะเจาะจงอยู่ที่ 99.3% ซึ่งถือว่าดีมาก
Dr.J. Shuren ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือของ อย.สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่า สหรัฐฯสนับสนุนการวิจัยพัฒนา เพื่อให้ได้นวัตกรรมใหม่ล่าสุดจากเทคโนโลยีที่หลากหลาย
ที่จะเข้ามาช่วยในการตรวจหาไวรัสให้สะดวกและง่ายขึ้น
เครื่องมือดังกล่าวจะตรวจได้วันละ 160 ตัวอย่าง ทั้งในโรงพยาบาล คลินิก หรืออาจจะเป็นหน่วยเคลื่อนที่ แต่ในช่วงแรกยังมีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่ได้รับการฝึกมาแล้ว
บริษัทจะสามารถผลิตในช่วงแรกได้ 100 เครื่องต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ตามทางอย.สหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ถ้าตรวจแล้วออกมาเป็นบวก ก็น่าจะตรวจยืนยันด้วยวิธีการที่แม่นยำมาตรฐานคือ PCR ด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เคยใช้เทคโนโลยีการตรวจทางลมหายใจมาแล้ว ตั้งแต่เดือน กพ.2564
นับเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ไม่ชอบการแยงจมูก ไม่ว่าจะลึกหรือตื้น
รวมทั้งถือว่าเป็นทางเลือกที่สำคัญ ในการที่ประเทศต่างๆ จะนำไปใช้ตรวจหาผู้ป่วยโควิดร่วมกับการตรวจแบบมาตรฐาน PCR และการตรวจทางเลือกแบบ ATK
จากสถานการณ์โควิด ทำให้มิติทางวิชาการสาธารณสุขของโลกเรา
มีการบูรณาการองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิจัยและพัฒนากันอย่างกว้างขวางและรวดเร็วมาก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ