แม้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ประกาศปลดล็อก “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 และพ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ... ฉบับภูมิใจไทยถูกยื่นเข้าสู่สภาแล้วรอวันมีผลบังคับใช้เปิดเสรี “กัญชาไทย” แต่ผู้ประกอบการในนามเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กลับออกมาเคลื่อนไหวในวันที่ 20 เมษายน ซึ่งเป็น “วันกัญชาโลก” เพื่อแสดงพลังคัดค้าน ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้
นายอัครเดช ฉากจินดา NGO นักเคลื่อนไหว ตัวแทนจากเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย จังหวัดกระบี่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความล้มเหลวของวิสาหกิจชุมชนที่ทำกัญชามาในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่านโยบายกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทยเป็นการตอบโจทย์ทางการเมืองมากกว่าให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้จริงและจะเป็นปัญหาในอนาคตแน่นอน
เพราะหน้าที่ของพ.ร.บ.กัญชาฯ ควรจะเป็นการส่งเสริมชาวบ้าน แต่พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับนี้เป็นการกีดกันด้วยกลไก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมารณรงค์ไม่รับร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ของภูมิใจไทยด้วยการชุมนุม และครั้งนี้จะมีเครือข่ายกัญชาเดินทางมาจากทั่วประเทศเพื่อมาร่วมกันยกร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับประชาชนเพื่อเสนอให้สภาพิจารณาเทียบเคียงกับพ.ร.บ.กัญชาฯ ของภูมิใจไทย
โดยเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยนัดรวมตัวกันบริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ช่วงเช้าเวลา 09.00 น. มีการจัดเตรียมที่พักค้าง เวทีเสวนา และเวลา 15.00 น. ได้เคลื่อนตัวไปรวมพลหน้าสำนักงาน กพร.ทำเนียบรัฐบาลพร้อมอ่านแถลงการณ์เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยในเวลา 16.00 น.
โดยมีสาระสำคัญว่า การรวมตัวของประชาชนคนไทยในครั้งนี้มีเจตนาอย่างชัดแจ้งว่า ต้องการสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงพืชพื้นเมืองที่เรียกว่า “กัญชา” เพื่อการเข้าถึงยา อาหาร และผลิตภัณฑ์จากกัญชา เพื่อการมีสุขภาพที่ดีและการขจัดความยากจน ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนที่โลกได้หยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
แม้ในปัจจุบันกฎหมายประเทศไทยได้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติดแล้ว และพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ฉบับใหม่ที่พรรคภูมิใจไทย ส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร เป็นกฎหมายที่นำไปสู่การกีดกัน ไม่ให้ประชาชนเข้าถึงได้และมีลักษณะของการเป็นกฎหมายกีดกันทางการค้า ซึ่งเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยเห็นว่า เป็นกฎหมายที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้เครือข่ายเห็นด้วยกับการใช้กัญชาว่าต้องมีกฎหมายควบคุมให้มีการใช้อย่างเหมาะสม ตามแนวทางอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติ
“ขอย้ำอีกครั้งว่าเราไม่ได้ต้องการ “กัญชาเสรี” แบบไร้ขอบเขต แต่ต้องการให้ “ประชาชนเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน” ของพืชพื้นเมืองโดยเห็นควรให้มีกฎเกณฑ์มาดูแลการใช้กัญชา ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง โดยพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ที่จะมีขึ้นมา ต้องตั้งอยู่บนหลักการสำคัญคือ กัญชาเป็นพืชพื้นเมืองที่ทุกคนควรเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม รัฐต้องส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์และผลิตภัณฑ์รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภค โดยพระราชบัญญัติฉบับใหม่จะต้องไม่เป็นการกีดกันประชาชนเหมือน พ.ร.บ.ของพรรคภูมิใจไทย”
นายอัครเดช ย้ำว่า ในมิติการพัฒนาที่ยั่งยืน กัญชาเป็นพืชสำคัญที่ชุมชนและประชาชนสามารถนำไปจัดทำระบบเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจายผลประโยชน์แก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยไม่ตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด เหมือนกลไกที่ปรากฎอยู่ใน พ.ร.บ.ของพรรคภูมิใจไทย การเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องต้นกัญชา แต่คือการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการควบคุมทางเศรษฐกิจของประเทศ
“ขั้นแรกเป็นการฉลองวันกัญชาโลก และแถลงการณ์ว่า วันที่ 9 มิถุนายนกัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไปในประเทศไทย และรณรงค์คัดค้านพ.ร.บ.กัญชาฯ ของภูมิใจไทย เพราะประชาชนจะกำหนดอนาคตกัญชาเอง ซึ่งวันนี้มีเครือข่ายอนาคตกัญชาไทย ทั้งกลุ่มนักปลูกอาชีพหรือนักปลูกใต้ดิน จะออกมากันเยอะเพราะว่าหลายคนถูกรังแก ซึ่งเขาก็อยากจะขึ้นมาบนดิน แต่ว่าด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายอย่างมันไม่ยุติธรรม
เพราะฉะนั้นต้องพยายามเรื่องยกร่างให้เข้าสภาให้เร็วที่สุด เพราะเราคิดว่าภูมิใจไทยจะดันพ.ร.บ.กัญชา ฉบับใหม่เข้าสภาวันที่ 22 พ.ค. นี้และถ้าผ่าน 3 วาระพ.ร.บ.กัญชาฯ ตัวนี้ หากจะแก้กลับคืนมาได้ต้องใช้เวลา 5 ปีและในระยะเวลา 5 ปีนี้คิดว่าตัวเล็กตัวน้อยตายหมดแล้ว จะเหลือแต่กลุ่มใหญ่ๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน”
นอกจากนี้จะเปิดเวทีเสวนารับฟังประสบการณ์และข้อคิดเห็น (ร่าง) พ.ร.บ. กัญชาฯ ฉบับประชาชน ซึ่งมีการเชิญบุคคลที่อยู่ในแวดวงกัญชา ไปจนถึงนักการเมืองเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีดนตรีปาร์ตี้สีเขียวโดยมีศิลปิน นักดนตรี กวี สลับผลัดเปลี่ยนกันตลอดคืน
ขณะที่สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับภูมิใจไทย ที่ถูกจับตามองคือ การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขาย ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้มีอำนาจ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ การปลูกในครัวเรือนจำเป็นต้องขอจดแจ้งจากผู้รับจดแจ้ง (ภาครัฐ) โดยใบจดแจ้งมีอายุ1 ปี การขอจดแจ้งและอนุญาตมีค่าธรรมเนียมคือ ใบอนุญาตปลูกและผลิต (สกัด) มีอายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 5 หมื่นบาท ใบอนุญาตนำเข้ามีอายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 1 แสนบาท ใบอนุญาตส่งออก มีอายุ 3 ปี ค่าธรรมเนียม 1 หมื่นบาท เป็นต้น