ติดเชื้อ "โอมิครอน" เสี่ยงเป็น "ลองโควิด" มากแค่ไหน น่ากลัวหรือไม่ เช็คเลย

21 มิ.ย. 2565 | 03:22 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2565 | 10:22 น.

ติดเชื้อ "โอมิครอน" เสี่ยงเป็น "ลองโควิด" มากแค่ไหน น่ากลัวหรือไม่ เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลังมีการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการป่วยระยะยาว

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

ก่อนหน้านี้มีบางสื่อให้ข่าวว่า 20-40% ของผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) มีผลข้างเคียงระยะยาว หรือที่รู้จักกันในชื่อ Long Covid  (ลองโควิด)

 

นับเวลาของอาการที่ยังตกค้างอยู่หลังการติดเชื้อไวรัสโควิดมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป 

 

โดยอ้างอิงจากข้อมูลลองโควิดของสายพันธุ์เดลตา 

 

ทำให้คนไทยวิตกกังวลกันมาก ทั้งๆที่ยังไม่มีหลักฐานจากการศึกษาขนาดใหญ่รองรับ 

 

เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนพบครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วในประเทศแอฟริกาใต้ 
 

เราต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัยระยะหนึ่ง ณ เวลานี้ มีการศึกษาใหญ่พอที่จะบอกได้แล้วว่า 

 

ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีลองโควิดมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา

 

ผลการศึกษามหาวิทยาลัยคิงคอลเลจ ลอนดอน ของสหราชอาณาจักร รายงานในวารสารการแพทย์ Lancet (ดูรูป)

 

ติดเชื้อโอมิครอนเสี่ยงเป็นลองโควิดมากแค่ไหน

 

จากการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการป่วยระยะยาวหรือลองโควิด 

 

พบหลักฐานว่าผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนมีอาการป่วยระยะยาว  4.5% หรือ 2,501 คนจาก 56,033 คน 

 

น้อยกว่าผู้ติดเชื้อเดลตาที่มีลองโควิด 10.8% หรือ 4,469 คนจาก 41,361 คน 

สรุปว่า ลองโควิดสายพันธุ์โอมิครอนน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้ามากกว่า 50% (ดูรูป)  

 

ติดเชื้อโอมิครอนเสี่ยงเป็นลองโควิดมากแค่ไหน

 

เพราะฉะนั้นคนไทยไม่ต้องตื่นกลัวเรื่องลองโควิดมากเกินไป 

 

คนที่หายป่วยจากโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่แล้วกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม 

 

มีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่ใช่ 20-40% ที่มีลองโควิด