1 ก.ค.โควิดไทยเป็น "โรคประจำถิ่น" ได้ไหม ผู้ป่วยลดลงจริงหรือไม่ เช็คเลย

30 มิ.ย. 2565 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2565 | 12:10 น.

1 ก.ค.โควิดไทยเป็น "โรคประจำถิ่น" ได้ไหม ผู้ป่วยลดลงจริงหรือไม่ เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอมนูญชี้แม้ฉีดวัคซีนเข็ม 5 ยังต้องระวัง

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ไทยกำลังก้าวเข้าสู่การพ้นการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ไวรัสโควิด-19) เป็นโรคประจำถิ่นตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขจริงหรือ 

 

ถ้าจะเลื่อนวันประกาศไปอีกสักพักจนสถานการณ์คลี่คลายกว่านี้ก็น่าจะดี 

 

ทุกโรงพยาบาลใน กทม.ขณะนี้รับคนไข้โรคโควิดเพิ่มขึ้น 

 

โรงพยาบาลวิชัยยุทธต้องกลับมาเปิดหอผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีก 1 วอร์ด หลังจากที่เคยปิดไปแล้ว 

 

ผู้ป่วยที่รับมาการรักษาส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้
 

ขอให้ทุกคนกลับไประมัดระวังตัวเพิ่มขึ้น ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี 

 

เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และพิจารณาว่าถึงเวลาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือยัง 

 

ผมเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ต้องระมัดระวังตัวเอง ไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อให้คนไข้ซึ่งอ่อนแอและมีโรคประจำตัวหลายโรค 

 

1 ก.ค.โควิดไทยเป็น "โรคประจำถิ่น" ได้หรือไม่

 

ผมได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม และโมเดอร์นา 1 เข็ม รวมทั้งหมด 4 เข็ม เข็มสุดท้ายปลายเดือนพฤศจิกายน 2564

 

เดือนมกราคม 2565 ผมตรวจภูมิคุ้มกันแอนติบอดีในเลือด SARS-CoV2 IgG (Anti Spike) สูงกว่า 40,000 ซึ่งถือว่าระดับสูงมาก

 

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ผมตรวจภูมิคุ้มกันแอนติบอดีล่าสุด

SARS-CoV2 IgG (Anti Spike) ลดลงเหลือ 7,418  เป็นธรรมชาติที่ภูมิคุ้มกันแอนติบอดีในเลือดจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆเดือน

 

ผมจึงตัดสินใจฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้นอีก 1 เข็ม เป็นเข็มที่ 5 และจะไม่ฉีดวัคซีนรุ่นปัจจุบันต่อจากนี้ 

 

จะรอวัคซีนป้องกันโรคโควิดรุ่นใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม อาจจะมาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า 

 

ทุกคนต้องยอมรับความจริงว่า ต่อให้ฉีดวัคซีน 5 เข็มก็ต้องระวังตัวเพราะยังมีโอกาสติดเชื้อ 

 

แต่จะช่วยลดอาการไม่ให้ป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้