เริ่ม1 ก.ค.ยกเลิกการรักษาโควิดแบบ HI- UCEP Plus ใช้ตามสิทธิแทน

30 มิ.ย. 2565 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2565 | 14:41 น.

สปสช.แจงออกประกาศ ยกเลิกการรักษาโควิดแบบ Home Isolation (HI) , Hospitel และกรณีของสิทธิ UCEP Plus มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. นี้ โดยให้ผู้ป่วยเข้ารักษาตามสิทธิ เหลือเพียงผู้ป่วยวิกฤตสีแดงยังใช้สิทธิ UCEP รักษาที่ใดก็ได้

จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด 19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ. 2565 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป

 

โดยยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรในการเข้ารับบริการของผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรอง บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อโรคโควิด-19 สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามดุลยพินิจของแพทย์และการเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอื่นที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ตามความจำเป็นของผู้มีสิทธิในสถานบริการอื่น

 

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า โดยหลักทั่วไปของระบบการรักษานั้น เมื่อเจ็บป่วยก็เป็นไปตามสิทธิ แต่ช่วงโควิดก็จะมีกฎหมายเข้ามาว่า ถ้าเป็นโควิดจะต้องรักษาแบบไหนอย่างไร และเบิกอย่างไรได้บ้าง ส่วนการประกาศของ ศบค.จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร ต้องขอไปดูประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน ส่วนที่จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นหรือระยะ Post-Pandemic ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป ไม่ได้แปลว่า เราจะถอดหน้ากากทั้งหมดแล้วไม่ป้องกันตนเอง ยังจำเป็นต้องป้องกันตนเอง เพราะยอมรับว่ามีการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งก็เหมือนอย่างสิงคโปร์ อังกฤษ ยุโรปก็เพิ่มมากขึ้น แต่ตัวเลขที่มากขึ้นยังไม่มีนัยสำคัญของผู้ติดเชื้อกับความรุนแรงและอัตราเสียชีวิต พอ 2 ตัวนี้ไม่เพิ่มศักยภาพเตียงก็ยังรับได้

 

ทั้งนี้ รัฐบาล ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขก็จะทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งจะเริ่มวันพรุ่งนี้แล้ว เป็นหน้าที่ที่เราต้องรีบหารือและชี้แจง
 

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวสิ่งที่จะยกเลิก คือ การรักษาแบบ Home Isolation , Hospitel และกรณีของสิทธิ UCEP Plus ซึ่งเดิมให้ผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลืองและสีแดงเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาสถานพยาบาลรัฐและเอกชนใดก็ได้ ก็จะปรับให้ผู้ป่วยอาการสีเหลืองกลับมารักษาฟรีตามสิทธิ ซึ่งแนวทางการรักษาจะให้รักษาแบบผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในใน รพ.ก็ขึ้นกับดุลยพินิจและการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจะมีแนวเวชปฏิบัติอยู่ 

 

 

 

ส่วนผู้ป่วยอาการสีแดงที่วิกฤต ยังสามารถใช้สิทธิ UCEP เข้ารักษาแห่งใดก็ได้ตามเดิม ซึ่งตามกระบวนการนั้นการตรวจหาเชื้อตามแนวทางของกรมควบคุมโรค คือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ หากสงสัยอาการรุนแรงให้โทรสายด่วน 1669 เพื่อประเมินความรุนแรงและเดินทางไปยังสถานพยาบาล ส่วนสายด่วน 1330 ยังให้ประชาชนที่ข้องใจสอบถามได้ หรือช่วยเหลือประสานหาเตียง

 

ทั้งนี้จะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากเข้าใจว่าประชานคุ้นชินกับระบบมานานถึง 3 ปี ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลรวม 150,000 ล้านบาท