น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
มาใหม่อีกแล้ว !! ไวรัส BA.2.75 หรือ Centaurus แพร่ได้เร็วขึ้น ความรุนแรงยังสรุปไม่ได้ พบในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก
รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO) , USCDC และ ECDC พบตรงกันว่า เกิดไวรัสก่อโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดขึ้นแล้ว คือ BA.2.75 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย (Sub-variant) ของไวรัส Omicron (โอมิครอน)
ไวรัสสายพันธุ์ย่อยดังกล่าว เริ่มพบที่ประเทศอินเดียเมื่อพฤษภาคม 2565
หลังจากนั้นก็ได้แพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ขณะนี้พบกว่า 10 ประเทศทั่วโลกแล้วได้แก่ สหรัฐอเมริกา (มากกว่า 10 มลรัฐ) แคนาดา อังกฤษ เยอรมัน และออสเตรเลีย เป็นต้น
สำหรับข้อมูลที่มีจำกัดในเบื้องต้น พอสรุปได้ว่า
โดยไวรัสดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ส่วน RBD บริเวณหนาม (Spike) ซึ่งในระยะหลัง ไวรัสที่มีการกลายพันธุ์และเป็นปัญหาของโลก ล้วนแต่มีการเปลี่ยนแปลงที่ส่วนหนามทั้งสิ้น
ECDC ได้จัดให้ ไวรัสใหม่นี้ เป็นไวรัสที่ต้องเฝ้าระวังหรือเฝ้าติดตาม(VUM : Variant Under Monitoring) ซึ่งถ้ามีข้อมูลความรุนแรงหรือการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น ก็จะยกระดับเป็น VOI : Variant of Interest และ VOC : Variant of Concern ตามลำดับ
ในปัจจุบัน มีไวรัสที่ถูกประกาศให้เป็นกลุ่มไวรัสที่น่าห่วงกังวล (VOC) หรือระดับสูงสุด 5 ตัวด้วยกัน ได้แก่ไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมมา เดลต้า และโอมิครอน
แต่ไวรัสโอมิครอนซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักในปัจจุบัน มีลักษณะพิเศษเหนือกว่าไวรัสสายพันธุ์หลักอื่นคือ
มีสายพันธุ์ย่อยที่มีความแตกต่างที่เด่นชัดหลายตัวด้วยกัน จนกลายเป็นสายพันธุ์ที่ครองโลกต่อเนื่องกันมา
เริ่มตั้งแต่ BA.1 แล้วขยับเปลี่ยนเป็นBA.2 ขณะนี้ก็เป็น BA.5 และในอนาคตไม่แน่ว่าจะเป็น BA.2.75 หรือไม่
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ไวรัสก่อโรคโควิดคือ ไวรัสตระกูลโคโรนาอยู่ในลำดับที่ 7 ซึ่งเป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยว
จึงทำให้มีการกลายพันธุ์ง่ายและรวดเร็ว นับตั้งแต่พบเคสแรกของโควิดเมื่อ 31 ธันวาคม 2562 จนปัจจุบันนับได้สองปีหกเดือนเศษ
เราได้ค้นพบการกลายพันธุ์ของไวรัสดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นับได้หลายร้อยหลายพันชนิดแล้ว เพราะตลอดความยาวของสารพันธุกรรมเกือบ 30,000 ตำแหน่งนั้น
ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเพียงบางตำแหน่ง ก็ถือว่าเป็นคนละสายพันธุ์แล้ว
การเปลี่ยนแปลงนั้นเมื่อเกิดขึ้นในตำแหน่งหลัก หรือมีจำนวนตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงมากพอ จนทำให้มีคุณสมบัติแตกต่างอย่างชัดเจน ก็จะตั้งชื่อไวรัสใหม่เป็นสายพันธุ์หลักใหม่ ตามตัวอักษรกรีก
แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดเพียงบางตำแหน่ง หรือในตำแหน่งไม่สำคัญที่ชัดเจน ก็จะเรียกเป็นสายพันธุ์ย่อยภายใต้สายพันธุ์หลักเดิม
จากข้อมูลตลอดระยะเวลาสองปีครึ่งที่ผ่านมา นักวิชาการและหน่วยงานที่ติดตามเรื่องนี้โดยละเอียด จึงมีความเห็นร่วมกัน ณ ปัจจุบันว่า
โอกาสที่โควิดจะยุติการระบาด หรือไม่มีการแพร่ระบาดนั้น ยังดูห่างไกลพอสมควร
เพราะไวรัสได้กลายพันธุ์เปลี่ยนแปลง หรือปรับตัวเองตลอดเวลา ทำให้การติดเชื้อตามธรรมชาติแล้วมีภูมิคุ้มกันนั้นไม่สามารถจะป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ รวมทั้งวัคซีนที่เป็นเจนเนอเรชั่นเดิม ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นก็รับมือต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้น้อยลง
เป็นเรื่องที่น่ากังวล และจำเป็นจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
การส่งสัญญาณสาธารณะของหน่วยงานรับผิดชอบในประเทศต่างๆ จึงพึงระมัดระวัง ควรส่งสัญญาณที่ถูกต้องแม่นยำและเป็นจริงเท่าที่จำเป็น
ไม่ควรคาดการณ์หรือบอกแนวโน้มที่จะเป็นรุนแรงมากขึ้น หรือจะรุนแรงลดลง (เป็นโรคประจำถิ่น) เพราะเมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้สาธารณะขาดความเชื่อถือได้