ติดโควิดกินยาอะไรบ้าง รักษาตัวอย่างไร เป็นคำถามที่กำลังได้รับความสนใจ หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
โดยส่วนตัวให้คำแนะนำกับคนที่มาปรึกษาเรื่องการป่วยด้วยโควิดว่า ถ้ามีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงดี ไม่ใช่คนมีโรคเรื้อรังที่เสี่ยงต่อโควิดรุนแรง (อายุเกิน 60 ไม่ใช่ปัญหา)
ถ้าได้รับวัคซีนอย่างน้อยเข็มมาตรฐานครบ โอกาสเกิดโรครุนแรงจากโควิดน้อยมากไม่ถึง 1%
แนะนำให้รักษาตัวเองและสังเกตอาการที่บ้าน ไม่ต้องไปโรงพยาบาลให้เป็นภาระต่อภาคการแพทย์
แล้วสังเกตอาการของโรคลุกลามที่ต้องปรึกษาแพทย์คือ มีไข้เกิน 38 องศาวัดห่างกัน 4 ชั่วโมงยังไม่ยอมลง
หรือขณะนั่งพักแล้วหายใจเกิน 22 ครั้งต่อนาทีหรือชีพจรเกิน 100 ครั้งต่อนาทีหรือระดับออกซิเจนปลายนิ้ววัดได้ตั้งแต่ 94% ลงไป
ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เช่นนี้น่าจะถึงร้อยคนแล้ว ทั้งหมดหายดียังไม่มีรายใดต้องเข้าโรงพยาบาล ส่วนการเกิดลองโควิดเท่าที่ถามดูก็มีไม่เยอะและถ้ามีก็ไม่รุนแรง
ในความเห็นส่วนตัวของผม การดูแลรักษาโควิดด้วยตัวเองที่บ้านอย่างมีความรู้ความเข้าใจ น่าจะช่วยลดโอกาสทางอ้อมต่อการเกิดลองโควิด เพราะสภาพจิตใจดีกว่าการต้องไปพึ่งพาโรงพยาบาล
สำหรับในบางรายที่จัดหาได้ก็จะแนะนำให้หาน้ำยากลั้วคอเบต้าดีนมากลั้วคอบ่อยๆ เพื่อลดปริมาณไวรัสในลำคอ
และให้กินยาละลายเสมหะ (acetylcysteine) ในขนาดสูงคือ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน
เพื่อหวังฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่ร่างกายเราต่อต้านไวรัสมากเกินไป
สำหรับอาหารและเครื่องดื่มก็จะแนะนำให้เสริมกระชายขาว ขมิ้นชัน ขิง และน้ำผึ้ง
ส่วนยาฟ้าทะลายโจรจะใช้ได้เจ้าตัวต้องไม่มีโรคตับรุนแรงอยู่ก่อน โดยกินในขนาดที่ทำให้ได้รับสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับวันละเก้าเม็ด (เม็ดละ 20 มิลลิกรัม) นานห้าวัน
ระหว่างรักษาให้แยกตัวจากคนอื่นนาน 7-10 วัน และถ้าหายดีแล้วอยากไปฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นเพิ่มก็ให้รอไปอีก 3 เดือน
การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์ที่ทำให้อาการดีขึ้นเร็ว หรือโมลนูพิราเวียร์และแพ็กซ์โลวิดที่ทำให้อาการดีขึ้นเร็วและช่วยลดโอกาสโรคลุกลาม
ล้วนทำการศึกษาในช่วงที่คนยังฉีดวัคซีนกันน้อยหรือไม่ได้ฉีด
มาถึงยุคนี้จึงควรเก็บยาไว้สำหรับคนที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหายาขาดแคลนเพราะภาครัฐไปโหมสร้างอุปทานเทียม
อีกทั้งช่วยลดโอกาสการดื้อต่อยาเหล่านี้ของเชื้อซาร์โควี-2 ในอนาคต และยังอาจทำให้ไม่ต้องไปเสี่ยงกับผล mutagenesis ที่อาจตกค้างจากการกินฟาวิและโมลนู เพราะยาทั้งสองตัวทำให้เกิดการสร้างสายพันธุกรรมของไวรัสผิดปกติ และมีผู้ห่วงกันว่าอาจมีผลหลงเหลือต่อคนกินด้วย