วิกฤตเด็กไทย หลุดจากระบบการศึกษา 8 เดือนยังสูง 1.7 หมื่นคน

25 ส.ค. 2565 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2565 | 15:22 น.

วิกฤตเด็กไทย หลุดจากระบบการศึกษา ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดตัวเลขเด็กหลุดจากระบบเดือนสิงหาคม 2565 แม้ว่าจำนวนจะปรับลงลงจากปีการศึกษาก่อนมากแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในอัตราที่สูงถึง 1.7 หมื่นคน ลุ้นทั้งปีทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบยาวนานต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ต้องเผชิญกับความยากลำบาก และเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องของการศึกษา เพราะการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เด็กไทยต้องหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น

 

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มีการสำรวจพบว่า เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน ทำให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ หาแนวทาง และแก้ปัญหาเชิงรุกผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” 

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พร้อมด้วย 11 พันธมิตรจากหน่วยงานภาครัฐ

 

กระทรวงศึกษาธิการ รายงานข้อมูลว่า สาเหตุที่เด็กต้องหลุดระบบการศึกษาไปนั้น นอกจากสถานการณ์โควิด-19  แล้ว ยังเป็นเรื่องของความจำเป็นทางครอบครัว หรือผู้ปกครองมีรายได้น้อยไม่พอเพียงด้วย โครงการนี้จึงเริ่มต้นเมื่อปลายปี 2564 

 

ช่วงเวลาไม่กี่เดือน สามารถตามเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาได้ จนถึงขณะนี้พบว่าเหลือ 8,741 ราย (ที่เหลือเป็นกลุ่มผู้พิการ สพฐ. 886 ราย และ กศน. 8,326 ราย) พร้อมตั้งเป้าค้นหาเด็กที่หลุดจากระบบ กลับมาให้ได้ครบ 100% ในปีนี้

สำหรับการรายงานตัวเลขในเดือนสิงหาคม 2565 พบข้อมูลดังนี้

  • จำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาทั่วประเทศ ปีการศึกษา 2564 จำนวน 238,707 คน
  • พานักเรียนกลับมาเรียนเพิ่ม 103,689 คน
  • รวมจำนวนพานักเรียนกลับมาเรียนแล้ว 220,754 คน
  • คงเหลือ 17,953 คน

 

สำหรับจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาคงเหลือ 17,953 คน แบ่งเป็น

  • กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ปกติ 8,741 คน
  • กลุ่มผู้พิการ สพฐ. 886 คน
  • กลุ่มผู้พิการ กศน. 8,326 คน

 

จำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

 

อย่างไรก็ตามกลุ่มเด็กที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ จะมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ โดยดูแลช่วยเหลือตามสาเหตุ เช่น จัดหาทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีฐานะยากจน บิดามารดาเสียชีวิต หรือกรณีเรียนรู้ช้า ก็ปรับวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความสามารถ และสอนซ่อมเสริม