"สทนช." เร่งเครื่องแผนแม่บทด้านน้ำ 20 ปีรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลก

25 ส.ค. 2565 | 09:39 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2565 | 16:39 น.

"สทนช." เร่งเครื่องแผนแม่บทด้านน้ำ 20 ปีรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลก ผ่านกลไกของ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) สทนช. ได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยมีน้ำสะอาดใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 

 

โดยบูรณาการร่วมกับ 9 กระทรวง 40 หน่วยงาน ภายใต้ กนช. คณะกรรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดและองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และได้มีการติดตามประเมินผลให้สามารถกำหนดทิศทางการดำเนินการระยะต่อไปได้อย่างชัดเจนมากขึ้น 

สำหรับผลการประเมินในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 

 

  • การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 
  • การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) 
  • การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 
  • การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 
  • การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน 
  • การบริหารจัดการ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ 

 

"สทนช." เร่งเครื่องแผนแม่บทด้านน้ำ 20 ปี

 

ปัจจุบันความก้าวหน้าการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ที่ 36.2% ซึ่งพบว่ามีบางกลยุทธ์หรือแผนงานที่ยังไม่ได้ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมหรือยังไม่มีการขับเคลื่อน บางกลยุทธ์ต้องปรับปรุงแผนงาน ประกอบกับมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา 

 

ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานคืนถิ่นนำไปสู่ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ อีกทั้งภาวะสงครามที่ทำให้เกิดวิกฤติอาหารโลกนำไปสู่ความต้องการพืชอาหารบางประเภทและการใช้น้ำที่มากขึ้นในบางพื้นที่ 

ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ มีผลต่อเป้าหมายในแผนแม่บทฯน้ำเดิม จึงต้องปรับปรุงแผนใหม่ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลก

 

เพื่อให้มีการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่ของทั้ง 22 ลุ่มน้ำ สทนช. จึงร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำยกร่างการปรับปรุงเผนแม่บทน้ำในระยะถัดไปปี 2566 – 2580 เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำและภาคประชาชนให้ครอบคลุมรอบด้าน 

 

โดยแบ่งการจัดประชุมเป็นกลุ่มย่อยรวม 7 พื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคเหนือ

 

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.
 

กระบวนการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทฯน้ำครั้งนี้จะเน้นกระบวนการ Co-Design และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การปรับแผนตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง 

 

แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปขับเคลื่อนสู่แผนปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ปัญหาด้านน้ำในภาพรวมของประเทศและการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำที่สะท้อนปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นจากการอุปโภค-บริโภคน้ำสะอาด มีน้ำใช้สร้างรายได้ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ลดความเสียหายจากภัยพิบัติด้านน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 

 

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบจะสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สิ่งสำคัญคือมีองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งภายในประเทศและกับพันธมิตรต่างประเทศ 

 

สำหรับการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ก็เป็นหนึ่งในแผนงานสร้างความมั่นคงด้านน้ำที่ สทนช. ได้เร่งขับเคลื่อนแผนการพัฒนาทรัพยากรน้ำในเขตพื้นที่ EEC มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนหลักเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการทรัพยากรน้ำ ทำการวิเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการใช้น้ำ และแหล่งน้ำต้นทุนที่มีศักยภาพ จัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออก 38 โครงการ ดำเนินการระหว่างปี 2563-2580 

 

ปัจจุบัน สทนช. ได้กำกับขับเคลื่อนโครงการได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว 22 โครงการ ซึ่งจะแล้วเสร็จตามแผนปี 2568 สามาถเพิ่มปริมาณน้ำใช้การ 318 ล้าน ลบ.ม. น้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นจากปี รองรับความต้องการใช้น้ำปี 2570 

 

สทนช. มีเป้าหมายขับเคลื่อนอีก 16 โครงการ ซึ่ง สทนช. จะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2575 ภายใต้แผนแม่บทน้ำฉบับปรับปรุงเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคตที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับหนึ่งในโครงการที่ได้ขับเคลื่อนและจะแล้วเสร็จในปี 2566 คือ 

 

โครงการปรับปรุงคลองพานทองเพื่อผันน้ำไปอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ปัจจุบันมีความก้าวหน้า 73% ดำเนินการโดย กรมชลประทาน ประกอบด้วย การก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง ขุดลอกคลองชลประทานพานทองระยะทาง 8.2 กิโลเมตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง  การก่อสร้างประตูระบายและท่อระบายน้ำ 5 แห่ง 

 

โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองพานทองและสูบผันน้ำนำไปจัดสรรน้ำเพิ่มเติมแก่อ่างเก็บน้ำบางพระได้อีก 20 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 5,450 ไร่ รวมทั้งสนับสนุนความมั่นคงของน้ำทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่ EEC ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้ประเทศต่อไป