รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ
อัพเดตความรู้โควิด-19
1. สัดส่วนสายพันธุ์ที่ระบาด
องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืนนี้ 21 กันยายน 2565
Omicron สายพันธุ์ BA.5 (และลูกหลาน) ยังครองการระบาด 76.6%, BA.4 (และลูกหลาน) 7.5%
ในขณะที่สายพันธุ์ย่อยที่กำลังเป็นที่จับตามองคือ BA.2.75 นั้นเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ปัจจุบันพบ 1.26% โดยมีประเทศที่ตรวจพบแล้ว 48 ประเทศทั่วโลก
ความสำคัญ:
ทั้งนี้ไวรัสที่กลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นนั้นมักพัฒนาสมรรถนะการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน การแพร่เชื้อ การจับกับตัวรับที่เซลล์เป้าหมาย และ/หรือนำไปสู่การป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ หากมองไปในอนาคต ภูมิจากวัคซีนที่ฉีดจะลดลงตามกาลเวลา
หากนโยบายและสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตประจำวันมีการเดินทาง พบปะกันมาก คนติดเชื้อไม่ได้แยกตัวจากคนอื่น ความใส่ใจสุขภาพและการป้องกันตัวเองของประชาชนแต่ละคนจะกลายเป็นปัจจัยเดียวที่เหลืออยู่ และมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
เพราะสุดท้ายแล้ว จะเกิดปัญหาติดเชื้อ ป่วย ตาย และ Long COVID ตามมาอย่างแน่นอน จะมากน้อยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนในสังคม แต่ผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้นนั้นจะมีทั้งเรื่องความสูญเสียด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ไม่ว่าจะต่อตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว และประเทศ
2. การดูแลรักษา Long COVID
การศึกษาของทีมงานมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย Long COVID ที่มีอาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าและมีปัญหาด้านความคิดความจำ โดยใช้วิธีฟื้นฟูสภาพร่างกายผ่านการจัดโปรแกรมอาหารและออกำลังกายนั้น หลังดำเนินการศึกษามา 3 เดือนแล้ว พบว่าไม่ได้ผล
จึงจำเป็นต้องทำการศึกษากลไกการเกิดปัญหา เพื่อหาแนวทางอื่นในการรักษา
ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องหาทางปรับตัวที่จะดำเนินชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับอาการป่วยของตน เช่น การทำกิจกรรมที่พอจะทำได้เท่าที่จำเป็น
3. กระบวนการอักเสบสัมพันธ์กับภาวะ Long COVID
ทีมงานจากประเทศแอฟริกาใต้ เผยแพร่ผลการศึกษา พบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID นั้นจะตรวจพบสารเคมีในเลือดที่บ่งถึงกระบวนการอักเสบ และส่งผลให้เกิดความผิดปกติของกลไกการละลายลิ่มเลือด
ทีมวิจัยคาดว่า การเกิดพยาธิสภาพเหล่านี้น่าจะนำไปสู่ปัญหาการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย จนนำมาสู่อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย Long COVID
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ