ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
ไขมันดีเยอะไป กลับเป็นเลว
ในปี 2017 นี้เองที่มีหลักฐานใหม่ๆมากมาย หักล้างความเชื่อ การปฏิบัติ การใช้ยาที่มีมานานเป็นสิบๆปี ทั้งเรื่องการกินอาหาร การประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดตัน อัมพฤกษ์ต่างๆ
เราคงคุ้นเคยกันดีพอสมควรกับการที่ต้องเจาะเลือดดูระดับไขมันต่างๆ รวมทั้งดูระดับไขมันดีหรือที่เรียกว่าHDL โดยที่เมื่อเห็นระดับสูงก็ดีใจกันใหญ่ว่าคงไม่มีหัวใจวายแล้ว
ความจริงเป็นที่สงสัยกันมานานว่าเรื่องไขมันดีจากการดูที่ระดับเฉยๆจะเป็นสูตรสำเร็จของการมีดวงดี เมื่อวิเคราะห์ร่วมกับไขมันเลวหรือLDL เพราะเมื่อเราดูคนป่วยหลายๆรายคงจะสังเกตุเห็นไม่มากก็น้อยว่าคนที่มีระดับไขมันดีสูงเหลือเกิน กลับมีทั้งหัวใจวายและเส้นเลือดตันในสมอง
บทบรรณาธิการในวารสารหัวใจของยุโรป ( พฤกษภาคม 2017) ซึ่งดำเนินการโดยสมาคมหัวใจได้สรุป เรื่องของไขมันดีอย่างน่าฟังว่า
โครงสร้างอนุภาคของไขมันดีที่อยู่ในกระแสเลือดของคนเราแท้จริงแล้วดูสับสนและซับซ้อน รวมทั้งบทบาทหน้าที่ความสัมพันธ์กับการเกิดโรคของเส้นเลือดแข็งตัวและตัน เป็นเรื่องไม่ตรงไปตรงมา อนุภาคไขมันดีแท้จริงแล้วประกอบไปด้วยอนุภาคต่างๆหลายส่วน
ซึ่งมีความแตกต่างกัน ทั้งขนาดรูปร่าง ประจุไฟฟ้าและส่วนประกอบของไขมันและโปรตีน อนุภาคต่างๆเหล่านี้เข้าสู่กระแสเลือดไม่พร้อมกัน แต่แล้วหลอมรวมเป็น อนุภาคไขมันดีในเลือด และมีการปรับแต่งส่วนประกอบและรูปร่างจากสารประกอบต่างๆในเลือดอยู่ตลอดเวลา และอนุภาคแต่ละส่วนจะถูกขจัดออกจากเลือดไม่พร้อมกัน
ความเชื่อที่ว่าไขมันดีจะมีหน้าที่ปกป้องการเกิดเส้นเลือดตีบ โดยแท้จริงแล้วยังไม่ทราบชัดเจนว่าเป็นผลโดยตรงหรือทางอ้อมและเกิดจากอนุภาคชิ้นหรือส่วนใดที่มีบทบาทดังกล่าว
การศึกษาต่างๆในมนุษย์ยืนยันไปในทางทิศทางเดียวกันว่า การที่มีระดับไขมันดีต่ำจะเป็นตัวทำนายของการเกิดโรคเส้นเลือดตีบ นอกจากนั้นการเพิ่มระดับไขมันดีในสัตว์ทดลองไม่ว่าจะโดยการฉีดไขมันดีเข้าไปในเส้นเลือดโดยตรง หรือปรับแต่งพันธุกรรมในหนูให้มีการสร้าง apoA-1 มากขึ้นซึ่งเป็นส่วนประกอบapoprotein ตัวสำคัญของไขมันดีจะช่วยป้องกันเส้นเลือด
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าความพยายามที่จะเพิ่มระดับไขมันดีในเลือดจนกระทั่งถึงปัจจุบันในคนไม่สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นเลือดตันได้รวมทั้งคนที่มีรหัสพันธุกรรมหรือยีน ที่กำหนดการสร้างไขมันดี หลายตำแหน่ง ไม่มีส่วนป้องกันการเกิดเส้นเลือดตีบ
รายงานล่าสุดในวารสารฉบับนี้ยังพบว่าคนที่มีระดับไขมันดีสูงมากแทนที่จะตายน้อยกลับตายเยอะขึ้นจากโรคหัวใจ มะเร็งและจากสาเหตุอื่นๆ เป็นการวิเคราะห์รายงานจาก Copenhagen City Heart Study และ Copenhagen General Population Study
ทั้งนี้เป็นการติดตามผู้ชายจำนวน 52,268 รายและผู้หญิงจำนวน 64,240 รายโดยมีการติดตามคิดเป็น 745,452 คน-ปี โดยที่มีเสียชีวิต 5,619 ราย ความสัมพันธ์ระหว่างระดับของไขมันดีและการตายปรากฏเป็นรูปตัวยู (U) โดยที่พบว่าความเสี่ยงจะเยอะที่ระดับไขมันดีต่ำและที่ระดับไขมันดีสูงมากๆ
การตายที่ต่ำที่สุดในผู้ชายจะอยู่ที่ระดับไขมันดีที่ 73 และในผู้หญิงที่ 92 ข้อควรระวังในคนไทย ตัวเลขนี้อาจนำมาใช้ไม่ได้
การที่พบว่าระดับไขมันดีสูงมากๆกลับตายมากขึ้นทำให้ต้องมีความระมัดระวังในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดตันหรือโรคหัวใจ โดยใช้ ตัวแปรที่มีระดับไขมัน ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบว่าการที่มีไขมันดีสูงมากๆเป็นสาเหตุโดยตรงต่อการตายหรือเกิดจากกลไกที่ทำให้ตายและขณะเดียวกันก็สามารถกระตุ้นให้มีการสร้างไขมันดีเพิ่มขึ้น
ในทางกลับกัน การที่พบว่าคนที่มีระดับไขมันดีต่ำมีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูงทำให้อนุมานไปว่าไขมันดีมีหน้าที่โดยตรงในการปกป้องเส้นเลือด
การวิจัยที่สนับสนุนบทบาทของไขมันดีอยู่ที่การศึกษาในหลอดทดลองหรือในเนื้อเยี่อที่ทำการทดสอบนอกตัวมนุษย์ โดยที่พบว่าไขมันดีช่วยให้มีการผลักไขมันคอเรสเตอรอล ออกจากตัวเม็ดเลือดขาว (macrophage) ที่อยู่ในผนังเส้นเลือด ความสามารถของไขมันดีในเรื่องที่ระดับเนื้อเยื่อไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับระดับไขมันดีในเลือดหรือระดับของapoA-1
ประโยชน์ของไขมันดีอื่นๆ คืออาจช่วยยับยั้งการอักเสบของเส้นเลือดซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เส้นเลือดตีบอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นไขมันดีอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูนอิสระและต้านการแข็งตัวมากไปของเลือดรวมทั้งช่วยเซลล์บุเส้นเลือด ให้มีการซ่อมแซมตัวเองหรือ ขยายการสร้างเส้นเลือดใหม่และแม้แต่มีฤทธิ์ในการต้านผลของเบาหวาน
ทั้งนี้อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นยังไม่มีใครทราบว่าส่วนใดหรืออนุภาคส่วนประกอบใดของไขมันดีที่มีฤทธิ์ในการปกป้องเส้นเลือด
ข้อสังเกตที่สนับสนุนว่าระดับของไขมันดีอาจไม่ใช่เครื่องทำนายที่ดีในการป้องกันโรคหัวใจ โรคของเส้นเลือดอื่นๆมาจากการศึกษาในปี 2011 โดยพบว่าผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดหัวใจตันในระยะเวลาไม่นาน
ปรากฏว่าหน้าที่การทำงานของไขมันดีกลับมีความผิดปรกติไป ทั้งนี้ในคนที่มีระดับของไขมันดีสูงมากเกินไปอาจจะแสดงว่ามีการเปลี่ยนของรหัสพันธุกรรมและกลายเป็นการสร้างไขมันดีที่ไม่ออกฤทธิ์ในการปกป้องเส้นเลือด
ความพยายามที่จะใช้สารหรือยาในการเร่งให้มีระดับไขมันดีสูงขึ้นในเลือดมีในการศึกษาสามรายงานใหญ่โดยไม่พบว่าป้องกันโรคหัวใจได้ เช่นโดยการยับยั้ง cholesteryl ester transfer protein (CETEP) และในการศึกษาดังกล่าวนี้ยังมีข้อมูลด้วยซ้ำว่าการยับยั้งโปรตีนดังกล่าวสามารถช่วยการออกฤทธิ์ของไขมันดีด้วยซ้ำ
มีความพยายามที่จะอธิบายความล้มเหลวของการใช้ยาต่างๆโดยอ้างว่า อาจจะเป็นไปได้ที่ ตัวยาก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือตัวยานำไปให้คนไข้ซึ่งเริ่มมีหัวใจวายเฉียบพลันหรือเกิด ขึ้นไม่นาน ซึ่งในขณะนั้นให้ไขมันดีจะมีการทำหน้าที่บกพร่องอยู่แล้วและ
นอกจากนั้นอาจจะเนื่องจากติดตามผู้ได้รับยาเหล่านี้ในระยะสั้นเกินไปคือเพียงสองปีซึ่งถ้าติดตามนานกว่านั้นอาจจะพบประโยชน์ การศึกษาขนาดใหญ่อีกรายการมีผู้อยู่ในการศึกษามากกว่า 30,000 คนและทำการติดตามไปนานกว่าสี่ปียังไม่ทราบผลของการรักษา
ความไม่อยู่กับร่องกับรอยระหว่างระดับของไขมันดีความสามารถในการออกฤทธิ์ของไขมันดีและการเกิดโรคของเส้นเลือดและการเพิ่มอัตราตายมากขึ้น ทำให้ต้องมีความระมัดระวังในการอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องไขมันดี
ทั้งนี้เนื่องจากเรายังไม่ทราบอนุภาคใดที่เป็นตัวออกฤทธิ์ในการป้องกันอย่างชัดเจน
กล่าวโดยสรุปเมื่อได้ผลเจาะเลือดห้ามทะนงตัวเด็ดขาดปล่อยตัวปล่อยใจไม่รักษาสุขภาพก็คงเสร็จเช่นกัน