นักเศรษฐศาสตร์ มอง work-life balance เรื่องของคนมีทางเลือก 

25 มี.ค. 2567 | 10:46 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2567 | 11:09 น.

ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มองดราม่า work-life balance เรื่องของคนชีวิตมีทางเลือก ชี้ความเชื่อเรื่องสำเร็จเพราะความพยายามเท่านั้น ทำสังคมยิ่งเหลื่อมล้ำ

work-life balance กลายเป็นประเด็นถกเถียง ในสังคม ณ ขณะนี้ หลังจากได้มีการเผยแพร่ คำให้สัมภาษณ์ ของท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา  ผู้ก่อตั้งบิทคับกับเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ในบางช่วงตอนได้มีการกล่าวถึงเรื่อง work-life balance ว่า แนวคิดเรื่องการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในช่วงไหนของชีวิต 

"สำหรับแนวคิดผมตอนนี้คือตั้งแต่ผมเกิดมา ผมยังไม่เคยเห็นใครที่ประสบความสำเร็จเกินค่าเฉลี่ยแล้วบอกว่าเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ดีสักคน อย่างคริสเตียโน โรนัลโด (Cristiano Ronaldo) ก็ไปสนามคนแรกและออกจากสนามเป็นคนสุดท้าย ทุกวันนี้อายุ 38 เขายังเป็นนักเตะที่วิ่งเร็วที่สุดและกระโดดสูงที่สุด หรืออีลอน มัสก์ (Elon Musk) เขาก็ยังนอนในพื้นโรงงานของตัวเองอยู่เลย”

อย่าเปรียบเทียบเวลาของแต่ละคน เพราะมันไม่เหมือนกัน ช่วงชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องใช้กลยุทธ์ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง ทั้งหมดอยู่ที่เป้าหมาย และนิยามความสำเร็จของเราว่าคืออะไร

ขอบคุณภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ

บทสัมภาษณ์ของ "ท๊อป จิรายุส" นำไปสู่การแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างของ หนึ่งในนั้นคือ ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ ด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์การศึกษา

ศ.ดร.ณัฐวุฒิ โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว Nattavudh Powdthavee - ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ว่ามีคนขอความคิดเห็นในเรื่องดราม่า work-life balance พร้อมระบุ การมีทางเลือก กับการไม่มีทางเลือก ที่จะมีหรือไม่มี work-life balance เป็นตัวแปรที่สำคัญมากว่า work-life balance

ความเชื่อที่ว่า "ถ้าคุณเลือกชีวิตที่มี work-life balance คุณจะไม่ประสบกับความสำเร็จในหน้าที่การงาน ก็ไม่ต่างอะไรจากความเชื่อที่ว่า "ที่ฉันประสบกับความสำเร็จในชีวิตของฉันได้ก็เพราะฉันพยายาม ถ้าคุณจนหรือไม่ประสบกับความสำเร็จในชีวิต มันก็แสดงว่าคุณขี้เกียจหรือคุณยังพยายามไม่พอ" ซึ่งเป็นความเชื่อที่ทำให้ประเทศไทย ยังคงมีความเหลื่อมล้ำที่สูงมากๆประเทศหนึ่งของโลก

โดยส่วนตัวไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องของผลลัพธ์ของ work-life balance มากนัก เพราะเป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วว่า คนที่ใช้เวลาทำงานเยอะจะมีรายได้ที่สูงกว่าคนที่ใช้เวลาทำงานน้อยกว่าโดยเฉลี่ย และคนที่มี work-life balance จะมีความสุขและสุขภาพจิตที่ดีกว่าคนที่ไม่มี work-life balance โดยเฉลี่ย 

พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานส่วนใหญ่ จึงมักคิดว่าความสำเร็จของตนมาจากความพยายามเพียงอย่างเดียว ซึ่งตนเองชื่นชมในความสำเร็จของนายจิรายุส โดยที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว และได้ตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของสื่อด้วยว่า อาจจะเป็นสิ่งที่นายจิรายุสพูดจริงๆ แต่อาจจะ out of context หรืออาจจะไม่ใช่สิ่งที่จิรายุสอาจจะสื่อออกมาจริงๆ อย่างไรก็ตามมองว่าสิ่งที่นายจิรายุสพูดนั้นไม่ผิด

ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ประจำ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ ด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขและเศรษฐศาสตร์การศึกษา

ศ.ดร.ณัฐวุฒิ แสดงความเห็นต่อไปว่า การเลือกชีวิตที่ไม่มี work-life balance เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะบุคคลนั้นๆได้ให้ความสำคัญต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่าสุขภาพจิต  มีความเครียดมากกว่าคนที่มี work-life balance แต่ก็เป็นความเครียดที่เลือกเอง

Work-life balance เป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ หากบุคคลคนนั้นไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้  ซึ่งศ.ดร.ณัฐวุฒิ กำลังหมายถึงเฉพาะคนที่เกิดมาในครอบครัวที่สถานะทางเศรษฐกิจดี มีทรัพย์สิน มีแรงผลักดันให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้ บุคคลเหล่านี้มักมีหน้าที่การงานที่มีความสามารถในการควบคุมเวลาของตัวเองสูง สามารถเลือกได้ว่าต้องการพักผ่อน หรือต้องการทำงานเพื่อความสำเร็จ

แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เกิดมามีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการผลักดันให้ก้าวมามีหน้าที่การงานที่มี high control ได้ คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเลือกได้ระหว่างชีวิตที่มี work-life balance หรือไม่มี เพราะถ้าไม่ทำงานก็จะมีรายได้ไม่เพียงพอในการยังชีพ และแม้จะทำงานอย่างไม่มี work-life balance แต่รายได้ที่ได้รับก็ยังไม่สามารถทำให้มีชีวิตในอนาคตมี work-life balance ได้อยู่ดี

สำหรับคนกลุ่มนี้ การมี work that pays well คืองานที่มีรายได้ดี แต่ไม่ทำลายชีวิตนอกการทำงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และควรทำอะไรก็ได้เพื่อที่จะลด opportunity gap หรือการเข้าไม่ถึงโอกาส ของคนกลุ่มนี้ ประเทศของเราก็จะน่าอยู่ขึ้นเยอะกว่าที่เป็นอยู่นี้มาก