โรคฝีดาษวานร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช็คอาการแบบไหน "ติด-ไม่ติด"

29 พ.ค. 2567 | 06:30 น.

กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ยังพบผู้ป่วยเป็นระยะและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. 67 ย้ำติดได้ทุกคนหากมีพฤติกรรมเสี่ยง แนะวิธีป้องกันตัวเองพร้อมสังเกตอาการ ความเสี่ยง

29 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือนกรกฎาคม 2565 จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 มีรายงานผู้ป่วยรวม 787 ราย เป็นเพศชาย 768 ราย (ร้อยละ 97) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ ระยอง และอุดรธานี ตามลำดับ 

ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะและเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเม.ย. (หลังเทศกาลสงกรานต์) จนถึงเดือน พ.ค. จึงต้องเฝ้าระวังพร้อมป้องกัน ลดเสี่ยง ลดโรค

สำหรับประชาชนหากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือการสัมผัสใกล้ชิด แนบแน่น กอดจูบ ลูบ คลำ พูดคุยระยะ 1 เมตรโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือเคยดูแลผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร ให้สังเกตอาการตนเองเบื้องต้นภายหลังสัมผัสผู้ป่วย หรือมีความเสี่ยงภายใน 21 วัน ดังนี้ 

นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค

  • มีผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก
  • มีไข้
  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ

ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ แนะนำให้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการสุขภาพใกล้บ้านทันทีเพื่อตรวจหาเชื้อได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้นจะทราบผลตรวจภายใน 1-5 วัน

ระหว่างรอผลตรวจนั้น แนะนำให้แยกของใช้ส่วนตัว และแยกพื้นที่กับผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน ไม่ใช้จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ และของใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อ เนื่องจากสามารถติดได้จากการสัมผัสใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าชะล่าใจเนื่องจากมีอาการรุนแรงได้  

โรคฝีดาษวานร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช็คอาการแบบไหน \"ติด-ไม่ติด\"

ประชาชนทุกคนไม่ควรประมาท โรคฝีดาษวานรติดได้ทุกคน หากมีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก  

2.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน เป็นต้น  

3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร

4.ไม่คลุกคลี หรือ สัมผัส ตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าหรือมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง เช่น หนูแกมเบียน กระรอกดิน

5.หมั่นล้างมือบ่อย ๆ

นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีกิจกรรมการรวมตัว หรือกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานรก็เป็นอีกวิธีที่สามารถป้องกันฝีดาษวานรได้

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422