นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการเดินหน้าตามนโยบายของรัฐบาลโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ว่า ได้มีการกำหนดแผนการขับเคลื่อนเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
สปสช. ได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ คือ การเพิ่มทางเลือกใหม่นอกเหนือจากการรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง และลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยขณะนี้ได้มีการดำเนินการใน 46 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ในการเข้ารับบริการ นอกจากหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำตามสิทธิของประชาชนแล้ว ที่ผ่านมา สปสช. ได้เพิ่มการเข้าถึงบริการโดยใช้กลไก "หน่วยบริการนวัตกรรม" เข้ามาสนับสนุนการให้บริการ โดยขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. ดังนี้
นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากที่ได้เริ่มให้บริการในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าประชาชนให้การตอบรับในการเข้ารับบริการอย่างมาก โดยมีข้อมูลในระบบ สปสช. มีการเข้ารับบริการภาพรวมเป็นจำนวนกว่า 7.6 ล้านครั้ง ซึ่งแยกตามประเภทหน่วยบริการ มีจำนวนการเข้ารับบริการ ดังนี้
โดยในส่วนของค่าบริการ ขณะนี้ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้วส่วนหนึ่งจำนวนกว่า 1,591 ล้านบาท และยังมีที่อยู่ระหว่างการทยอดเบิกจ่ายเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนการตอบรับบริการหน่วยบริการนวัตกรรมตามจากข้อมูลที่ปรากฏนี้ ทั้งยังเป็นบริการที่อยู่นอกงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ให้กับหน่วยบริการประจำ ดังนั้น เพื่อให้นโยบายของรัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงการการขับเคลื่อนตามแผนในระยะที่ 4 ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งใน 46 จังหวัดที่ดำเนินการไปแล้ว และในอีก 31 จังหวัดที่เตรียมดำเนินการต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา สปสช. จึงได้จัดทำแผนเพื่อขอสนับสนุนงบกลางจากรัฐบาลเป็นจำนวน 7,100 ล้านบาทเพิ่มเติม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช.เป็นที่เรียบร้อยแล้วและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมศักดิ์ เทพสุทิน ได้ลงนามในหนังสือเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้การพิจารณาและความเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้งบประมาณดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่ง สปสช. ยังนำไปใช้ในการสนับสนุนหน่วยบริการทุกระดับที่มีอยู่เดิมในระบบบัตรทองด้วย โดยเฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ร่วมให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศได้มีการให้บริการและสำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งเป็นส่วนทำให้นโยบายนี้บรรลุเป้าหมายด้วย
งบประมาณฯ นี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ โดยงบประมาณที่ได้รับเพิ่มเติมนี้ยังเป็นส่วนที่สร้างความมั่นใจให้กับร้านยา และคลินิกเอกชนต่างๆ ในการตัดสินใจเข้ามาร่วมนโยบายในการให้บริการประชาชนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นงบที่จะเข้ามาสนับสนุนการให้บริการของโรงพยาบาล ทั้งในส่วนที่สำรองจ่าย และที่จะร่วมขับเคลื่อนนโยบายฯ นี้ในการดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป