เปิดวิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในหน้าร้อน ฝุ่น PM 2.5 ต้องทำยังไง เช็คที่นี่

10 เม.ย. 2566 | 05:34 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2566 | 05:35 น.

เปิดวิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในหน้าร้อน ฝุ่น PM 2.5 ต้องทำยังไง เช็คที่นี่มีคำตอบ กรมการแพทย์ชี้อากาศของไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นและปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินมาตราฐานติดอับดับต้นของโลก

แพทย์หญิงพัชรินทร์ ปิงเมืองแก้ว รองผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ข้อแนะนำการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในหน้าร้อนและฝุ่น PM 2.5 ประกอบด้วย 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานผักและผลไม้ที่มีสีส้มและเหลือง เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น มะเขือเทศราชินี แครอท ฟักทอง มะม่วงสุก เป็นต้น 
  • การปรับอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วด้วยการดื่มน้ำ โดยปกติควรดื่มน้ำวันละประมาณ 6-8 แก้ว แต่ถ้าหากอยู่กลางแดดร้อนอาจดื่มได้มากกว่านี้ 
  • การป้องกันสายตาและผิวหนังจากแสงแดดจ้าในการทำกิจกรรมกลางแจ้งนาน ๆ เช่น สวมแว่นกันแดด สวมหมวก ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย เป็นต้น 
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ กลางแจ้งหากเป็นวันที่ค่าของฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานพิจารณาให้ออกกำลังกายภายในอาคารแทน 
  • ผู้สูงอายุที่มีโรคภูมิแพ้จมูก โพรงจมูกอักเสบ และหอบหืด ควรใช้ยาสูดทางปาก และยาพ่นจมูกต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ พิจารณาการล้างจมูกอาจช่วยลดทั้งฝุ่น "PM 2.5" ในทางเดินหายใจส่วนบน และสารก่อภูมิแพ้ได้ 

เปิดวิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในหน้าร้อน-ฝุ่น PM 2.5 ต้องทำยังไง เช็คที่นี่

  • ผู้สูงอายุที่มีโรคภูมิแพ้ผิวหนัง แนะนำใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด และหลังกลับเข้ามาภายในอาคารแนะนำเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม ชำระล้างร่างกายที่อาจนำพาฝุ่นเข้ามาภายในอาคาร 
  • สวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกรอง PM 2.5 ได้ ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน 

ทั้งนี้ การให้ผู้สูงอายุได้สัมผัสแสงแดด ช่วงเช้าตรู่และช่วงเย็น ระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 10 - 15 นาที เพื่อให้ร่างกายผลิตวิตามิน D ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้โดยการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (UVB) จะมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถป้องกันโรค โดยเฉพาะภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรงในวัยผู้สูงอายุได้

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพอากาศของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นและปัญหาฝุ่น "PM 2.5" เกินมาตราฐานติดอับดับต้นๆ ของโลก ทำให้ประชาชนต้องหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเนื่องจากอายุที่มากขึ้นภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ลดลง ร่วมกับประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลงจึงส่งผลอันตรายมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ