กัญชาเสรีครบ 1 ปี ย้อนรอยที่มาการปลดล็อกก่อนจ่อกลับเป็นยาเสพติด

10 มิ.ย. 2566 | 05:58 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2566 | 05:59 น.

กัญชาเสรีครบ 1 ปี ย้อนรอยที่มาการปลดล็อกก่อนจ่อกลับเป็นยาเสพติด หลัง MOU การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลระบุชัดเจน ระบุสถิติที่ผ่านมาพบว่าเยาวชนสูบกัญชาเพิ่ม 10 เท่า และมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น

กัญชาเสรี นโยบายจากพรรคภูมิใจไทย เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.66 โดยจนถึงเวลานี้เวลาได้หมุนผ่านไปจนครบ 1 ปี แห่งการเปิดเสรี

การเปิดกัญชาเสรีในวันนั้นได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์หลายอย่าง ทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสังคม ในภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดข้อมูลทางวิชาการพบว่าเยาวชนสูบกัญชาเพิ่ม 10 เท่า หลังปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด รวมถึงการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจิตเวชอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดีอีกมุมหนึ่งต้องยอมรับว่า การปลดล็อกดังกล่าวได้ทำให้เกิดความตื่นตัวในเชิงธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ ความเห็นต่างจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง 

แม้ก่อนหน้านี้จะเคยผ่านวาระแรกของร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชงมาแล้ว แต่สุดท้ายกฎหมายก็ยังค้างเติ่งอยู่ที่สภา ซึ่งสิ่งที่ยังเป็นข้อถกเถียง คือ สาระสำคัญของกฎหมายที่ยังมีช่องโหว่ หรือเป็นเกมทางการเมืองกันแน่

อย่างไรก็ตาม จากการก้าวเข้ามาของพรรคก้าวไกล  ซึ่งได้รับคะแนนอย่างท่วมท้นจากการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา และมีสิทธิ์ในการเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล นโยบายหนึ่งที่ถูกจับตาก็คือ การนำกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติดอีกครั้ง

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาย้อนเวลากลับไปช่วงก่อนหน้าที่กัญชาจะได้รับการปลดล็อก โดยก่อนหน้านั้นมีความพยายามของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ในการตรวจยึดต้นกัญชา และแจ้งจับ เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2562 ซึ่งนำมาสู่กระแสเรียกร้องให้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าก่อนหน้านี้สังคมรู้จักชื่อของ "อาจารย์เดชา" ในนามนักเคลื่อนไหวด้านเกษตรกรรมยั่งยืน และผู้บุกเบิกเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งเริ่มสนใจศึกษาศาสตร์ของกัญชาในฐานะตัวยารักษาโรคอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2556 หลังจาากที่แม่และคนในครอบครัวเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับ และได้ผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคองแบบใต้ดินมานานหลายปี จนเกิดกระแส #saveเดชา

หากยังจำกันได้เมื่อการเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อปี 2562 “พรรคภูมิใจไทย” ได้เสนอนโยบายปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด อนุญาตให้ปลูกกัญชาได้บ้านละ 6 ต้น พร้อมสัญญาประชาคมที่จะทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อแก้ความเจ็บป่วยและความยากจนไปพร้อมกัน

โดยหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งง พรรคภูมิใจได้มีโอกาสเป้นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งอนุทิน ชาญวีรกูล ได้นั่งเก้าอี้เป้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกัญชาโดยเฉพาะ ในระหว่างที่กัญชายังเป็นยาเสพติด มีช่วงการนิรโทษกรรม 90 วัน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองกัญชาทางการแพทย์ยื่นจดแจ้งโดยไม่ต้องรับโทษ อนุทิน ย้ำว่าการปลดล็อกกัญชาจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยไม่เกี่ยวกับการนันทนาการ
 

ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมามีความพยายามในการร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ในวาระแรกกฎหมายฉบับนี้ได้รับเสียงข้างมากจากทางพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็ต้องมาสะดุดลงในวาระที่สองเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเองก็เห็นต่าง ทำให้เกิดกรณีสภาล่มหลายครั้ง จนร่างกฎหมายยังคงค้างอยู่ในสภาฯ

แต่ในช่วงเวลาที่กฎหมายควบคุมกัญชายังไม่ผ่านสภา อนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เซ็นอนุมัติประกาศกระทรวง ให้กัญชาออกจากบัญชียาเสพติด โดยมีผล 9 มิถุนายน 2565

หลังจากนั้นจึงเกิดภาวะสุญญากาศกัญชา โดยที่ร้านค้ารายย่อยที่ขายช่อดอกเพื่อนันทนาการอย่างเปิดเผย ไม่ถูกจับกุม อาหาร-เครืองดื่มผสมกัญชาขายอย่างไร้การควบคุม จนสังคมเริ่มตั้งคำถามว่า นี่เป็นการปลดล็อกกัญชา ตรงตามเจตนารมณ์เดิม เพื่อการแพทย์หรือไม่

ประเด็นที่น่าตกใจก็คือสถิติของศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานวิจัยพบว่า  เยาวชนสูบกัญชาเพิ่ม 10 เท่า หลังปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด 

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ 2 ฉบับ ห้ามสูบในที่สาธารณะและห้ามจำหน่ายช่อดอกแก่เยาวชน แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการผุดขึ้นของร้านแคนนาบิสช็อป และยังพบการนำเข้ากัญชาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมาย

เครือข่ายอาจารย์แพทย์ หลายคนเริ่มส่งเสียงเตือนภาวะสุญญากาศกัญชา ที่น่าห่วงที่สุดคือส่งผลกระทบต่อเยาวชน และมีข้อสังเกตว่าผู้ป่วยจากการใช้กัญชาทั้งจากการสูบ การกิน สูงขึ้นสามเท่า ที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล กลายเป็นดาบที่ย้อนกลับมาทิ่มแทง นโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย ที่ได้รับเสียงตอบรับดีในช่วงแรก

หลังเลือกตั้งปี 2566 ล่าสุด การบันทึกข้อตกลง หรือ MOU การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ได้ปรากฏข้อที่ 16 ซึ่งต้องการดึงกัญชากลับไปขึ้นบัญชียาเสพติด โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตอบคำถามสื่อมวลชนเพิ่มเติมในกรณีนี้ด้วยว่า ให้มีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา ทำให้สถานะของ กัญชา กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมอีกครั้ง

หลังจากนี้ก็คงต้องจับตาว่า เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สถานะของ "กัญชา" จะเป็นอย่างไร