รู้จัก"มะเร็งลำไส้ใหญ่" อาการอย่างไร หลังคร่าชีวิต"ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์"

22 มิ.ย. 2566 | 04:24 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2566 | 04:24 น.

รู้จัก"มะเร็งลำไส้ใหญ่" อาการอย่างไร หลังคร่าชีวิต"ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์" ฮีโร่ช่วยชีวิตทีมหมูป่า ฐานเศรษฐกิจรวรวมข้อมูลไว้ให้แล้ว ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น วิธีการรักษาโรค

มะเร็งลำไส้ใหญ่กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่ผู้ว่าณรงค์ศักดิ์  โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หรือผู้ว่าฯหมูป่าเสียชีวิตลงด้วยโรคดังกล่าว

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปทำความรู้จักกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้เพิ่มมากขึ้น  ทั้งสาเหตุ วิธีการรักษา

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) คือ ชนิดของมะเร็งที่เกิดที่ลำไส้ใหญ่ (หรือที่เรียกว่าลำไส้ใหญ่โคลอน) และอยู่ส่วนปลายสุดของระบบทางเดินอาหาร บางครั้งถูกเรียกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (colorectal cancer) เนื่องจากเกิดมะเร็งขึ้นที่ลำไส้ใหญ่และมะเร็งทวารหนัก 

มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถเป็นได้ทุกวัย แต่มักจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ มะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะเริ่มต้นจากติ่งเนื้อเล็กๆ เรียกว่าโพลิพ (polyps) ซึ่งเป็นหนึ่งในก้อนเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง และก่อตัวด้านในลำไส้ใหญ่ หลังจากนั้น ติ่งเนื้อจะพัฒนากลายมาเป็นมะเร็ง

ในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายรูปแบบอย่างเช่น การรักษาด้วยเคมีบำบัด การใช้ยารักษามะเร็งแบบตรงจุดและการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

อาการ

  • พฤติกรรมในการขับถ่ายที่ผิดแปลกไปจากปกติ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือถ่ายบ่อยครั้งขึ้น
  • พบว่ามีเลือดปนมากับอุจจาระ
  • มีอาการท้องอืด ปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียด หรือมีก๊าซในกระเพราะอาหาร
  • มีความรู้สึกปวดเบ่ง หรือเกิดความรู้สึกว่าถ่ายไม่สุด
  • รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยง 

  • ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าวัยอื่นๆ ถึงแม้มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถเกิดได้กับทุกวัย แต่จะพบมากในผู้ป่วยอายุ 50 ปีหรือมากกว่า ในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 50 ปีและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากเพิ่มขึ้น
  • ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา (African American race) จะมีปัจจัยเสี่ยงที่สูงกว่าคนเชื้อชาติอื่นในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักหรือพบติ่งเนื้อมักจะมีความเสี่ยงที่สูงกว่า ในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต
  • กลุ่มโรคที่มีอาการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (Inflammatory intestinal conditions) เช่นการอักเสบเรื้อรังที่ลำไส้ใหญ่ (chronic inflammatory diseases in the colon) รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้อักเสบ (ulcerative colitis) และโรคโครห์น (Crohn’s disease) มักจะมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น
  • คนที่มีพันธุกรรมยีนกลายพันธุ์ที่ถ่ายทอดจากพ่อหรือแม่ (inherited gene mutations through family generations) พบว่าจะมีความเสี่ยงที่สูงมากกว่าในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ในความเป็นจริงพบว่าความเชื่อมโยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระหว่างผู้ป่วยและพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่มีเปอร์เซ็นต์ที่น้อย

การรักษา 
แนวทางการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่มีเซลล์มะเร็ง ระยะของมะเร็งหรือภาวะทางสุขภาพอื่นๆ การผ่าตัดเป็นแนวทางการรักษาที่มักจะถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดนี้ ในบางครั้งแพทย์จะแนะนำการรักษารูปแบบอื่นๆ อย่างเช่นการใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัด 

  • การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น แพทย์จะแนะนำการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง (minimally invasive surgery)
  • การตัดติ่งเนื้อ (Polypectomy) คือการนำติ่งเนื้อออกระหว่างการส่องกล้อง แพทย์จะแนะนำให้ทำการตัดติ่งเนื้อหากพบว่าเซลล์มะเร็งยังมีขนาดเล็กและมีปริมาณจำกัด และแพทย์จะสามารถนำติ่งเนื้อออกได้ทั้งหมด การรักษาแบบนี้เหมาะสำหรับการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้น
  • การผ่าตัดส่องกล้องแบบ Endoscopic mucosal resection – ศัลยแพทย์จะทำการนำติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นออก ในช่วงทำการส่องกล้อง ศัลยแพทย์จะใช้เครื่องมือเฉพาะทาง ในการนำติ่งเนื้อรวมถึงส่วนด้านในของลำไส้ใหญ่ออก
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) เป็นวิธีการรักษาด้วยการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้องในการตัดติ่งเนื้อ ที่ไม่สามารถทำการตัดออกได้ในช่วงการส่องกล้อง แพทย์จะทำการตัดรอยเล็กๆบริเวณผนังกล้ามเนื้อท้อง กล้องจะทำการแสดงภาพโครงสร้างด้านในลำไส้ใหญ่ผ่านทางหน้าจอวิดีโอมอนิเตอร์ โและศัลยแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างจากต่อมน้ำเหลืองของบริเวณที่เกิดมะเร็ง

ส่วนวิธีการผ่าตัดรูปแบบอื่นๆที่ศัลยแพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้ หากพบว่าเซลล์มะเร็งมีการเติบโตและแพร่กระจายในลำไส้ใหญ่ มีดังต่อไปนี้

  • การผ่าตัดลำไส้ใหญ่บางส่วนออก (partial colectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดผ่านกล้องที่ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดส่วนที่มะเร็งลุกลามในบริเวณลำไส้ใหญ่ รวมถึงจะทำการผ่าตัดส่วนเล็กๆของเนื้อเยื่อบริเวณปกติที่อยู่ด้านข้างของจุดที่เป็นมะเร็ง โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะสามารถต่อส่วนที่ปกติด้านในของลำไส้ใหญ่และทวารหนักเข้าด้วยกันได้
  • การทำทวารเทียม (Ostomy) คือการผ่าตัดที่จะสร้างจุดที่ร่างกายสามารถกำจัดของเสีย แพทย์มักจะแนะนำให้ทำทวารเทียม เมื่อขั้นตอนการต่อส่วนที่ปกติภายในลำไส้ใหญ่และทวารหนักไม่สามารถเป็นไปได้ ในการทำทวารเทียม ศัลยแพทย์จำเป็นต้องทำการเปิดผนังด้านหน้าท้อง และทำการสร้างจุดที่สามารถจะกำจัดของเสียได้ ศัลยแพทย์จะนำถุงสำหรับกำจัดอุจจาระวางไว้ที่ผนังหน้าท้อง โดยส่วนใหญ่การผ่าตัดทำทวารเทียมจะเป็นการทำแบบชั่วคราว เพื่อที่จะให้เวลาลำไส้ใหญ่และทวารหนักทำการประสานกันหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นลง ในกรณีอื่นๆ อาจจะจำเป็นต้องทำทวารเทียมในแบบถาวร
  • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง (Lymph node removal) คือการที่ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดนำต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออกในช่วงการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และนำส่วนที่ทำการผ่าตัด ไปตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งเพิ่มเติม
  • ศัลยแพทย์จะทำการแนะนำให้ผู้ป่วยทำการผ่าตัดเพื่อลดภาวะการอุดตันภายในลำไส้ใหญ่สำหรับผู้ป่วยระยะแพร่กรจาย แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดหากพบว่าภาพรวมสุขภาพของผู้ป่วยทรุดลง เนื่องจากการรักษาประเภทนี้จะช่วยบรรเทาอาการที่ผู้ป่วยอาจจะประสบจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการที่ไม่พึงประสงค์ได้แก่การอุดตัน เลือดไหล หรืออาการเจ็บปวด

ในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่ตับหรือปอด แต่สุขภาพผู้ป่วยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออก ควบคู่ไปกับการใช้เคมีบำบัดก่อน หรือหลังการผ่าตัด การรักษาแบบนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากมะเร็งได้มากขึ้น

การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy)

  • เคมีบำบัดคือการใช้เคมีในการทำลายล้างเซลล์มะเร็ง สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะนิยมใช้เคมีบำบัดหลังจากการผ่าตัดในกรณีที่เซลล์มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เคมีบำบัดใช้ในการรักษาเซลล์มะเร็งที่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง เคมีบำบัดสามารถนำมาใช้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังคงค้างอยู่ในร่างกาย และยังจะช่วยลดการกลับมาเป็นมะเร็งในอนาคต  ในบางครั้งการรักษาด้วยเคมีบำบัดจะถูกนำมาใช้ก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดเซลล์มะเร็งและช่วยให้ง่ายต่อการผ่าตัดก้อนมะเร็ง
  • ในบางครั้งแพทย์จะใช้เคมีบำบัดควบคู่ไปกับการใช้รังสีรักษา การรักษารูปแบบนี้จะช่วยบรรเทาอาการต่างๆที่เกิดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่ไม่สามารถรักษาได้จากการผ่าตัด ในกรณีที่เซลล์มะเร็งได้มีการลุกลามไปที่อวัยวะส่วนอื่นในร่างกาย แพทย์จะทำการแนะนำการรักษาด้วยเคมีบำบัด

การใช้รังสีรักษา (Radiation therapy treatment)

  • การรักษาด้วยรังสีรักษาจะทำการรักษาผ่านการใช้รังสีเอ็กซ์ (X-ray) หรือโปรตอนเพื่อนทำลายเซลล์มะเร็ง ในบางครั้งแพทย์จะใช้รังสีรักษาก่อนทำการผ่าตัด เพื่อช่วยลดขนาดเซลล์มะเร็งที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เป็นการง่ายต่อการผ่าตัดก้อนมะเร็ง รังสีรักษายังเป็นทางเลือกในการบรรเทาอาการเจ็บปวดเมื่อแพทย์พบว่าผู้ป่วยไม่สามารถทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ในบางครั้งมักนิยมใช้รังสีรักษาควบคู่ไปกับการใช้เคมีบำบัดในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

การใช้ยารักษามะเร็งอย่างตรงจุด (Targeted-drug therapy)

  • การรักษารูปแบบนี้คือการรักษาที่มุ่งเป้าไปที่จุดผิดปกติภายในเซลล์มะเร็ง โดยจะทำการรักษาด้วยการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติ และทำลายเซลล์มะเร็ง แพทย์มักจะใช้การรักษารูปแบบนี้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และมักใช้การรักษาแบบนี้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

  • การรักษาประเภทนี้จะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และจะช่วยระบบภูมิคุ้มกันในการกำจัดเซลล์มะเร็ง เนื่องจากประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเซลล์มะเร็งจะลดลง เพราะเซลล์มะเร็งจะผลิตโปรตีนที่จะทำการบังเซลล์ภายในระบบภูมิคุ้มกัน จากการตรวจพบเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจะทำการแทรกแซงกระบวณการผลิตโปรตีนของเซลล์มะเร็ง แพทย์มักจะแนะนำการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดกับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในระยะแพร่กระจาย โดยแพทย์จะทำการตรวจสอบว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนองต่อการรักษารูปแบบนี้หรือไม่

การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)  

  • การดูแลแบบประคับประคองคือโปรแกรมการดูแลส่วนบุคคลที่มุ่งเน้นการลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยจากการรักษา หรือจากภาวะป่วยวิกฤตอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญจะทำงานร่วมกับผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วยและแพทย์ท่านอื่นๆ ในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด การดูแลแบบประคับประคองเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด ควบคู่ไปกับการรักษาอื่น ๆ

ข้อมูล : MedPark Hospital