รวมจุดรักษาโรคฝีดาษลิง สปสช. ในพื้นที่ กทม. คลิกที่นี่ 

04 ก.ย. 2566 | 20:15 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2566 | 04:52 น.

อัปเดตสถานการณ์ โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) หรือ ฝีดาษลิง พร้อมจุดให้บริการรักษาของ สปสช. หากมีอาการเข้าข่ายหรือสงสัยว่า ติดเชื้อ ในพื้นที่ กทม. อยู่ตรงไหน ที่ใดบ้าง ตรวจสอบอาการเบื้องต้นและวิธีการป้องกันโรคได้ครบที่นี่

เกาะติดพร้อมรายงานสถานการณ์โรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร (Monkeypox) ในไทย โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 พบผู้ป่วยรวม 316 ราย เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมากถึง 271 ราย คิดเป็น 85.8% และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 143 ราย คิดเป็น 45.3% มีสัญชาติไทย 277 ราย ชาวต่างชาติ 36 ราย ไม่ระบุ 3 ราย และเสียชีวิต 1 รายซึ่งเป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ในขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่ในพื้นที่

  • กทม. 198 ราย
  • ชลบุรี  22 ราย
  • นนทบุรี 17 ราย
  • สมุทรปราการ 12 ราย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 30-39 ปี จำนวน 152 ราย รองลงมาอายุ 20-29 ปี จำนวน 85 ราย กลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี จำนวน 28 รายซึ่งกลุ่มเยาวชนมีความเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับสถานการณ์ 4 เดือนย้อนหลังพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับรายงานผู้ป่วย 22 ราย เดือนมิถุนายน 48 ราย เดือนกรกฎาคม 80 ราย และเดือนสิงหาคมได้รับรายงานเพิ่มอีก 145 ราย เกือบทั้งหมดเป็นคนไทย และรับเชื้อภายในประเทศ 

โรคฝีดาษลิง คือ อะไร

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือโรคไข้ทรพิษ

ส่วนใหญ่พบในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ไม่ร้ายแรงและมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำแต่มักพบในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกตและดูแบบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

ปัจจุบันมี 2 สายพันธุ์ ดังนี้ 

  • สายพันธุ์ West African clade อาการไม่รุนแรง อัตราป่วยตายอยู่ที่ 1%
  • สายพันธุ์ Central African clade อาการรุนแรงกว่า อัตราป่วยตายอยู่ที่ 10%

โรคฝีดาษลิง มีอาการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ 

1.ระยะฟักตัว : จะไม่แสดงอาการช่วง 5 – 21 วันหลังจากได้รับเชื้อ

2.ระยะไข้ 1-4 วัน : มีอาการปวดหัว เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย

3.ระยะผื่น 1-2 สัปดาห์ : จะเริ่มจากผื่นแบน ผื่นนูน ผื่นมีน้ำใสใต้ผื่น ผื่นมีน้ำขุ่นใต้ผื่น จนกระทั่งเป็นผื่นแผลแห้งเป็ยขุย

4.ระยะฟื้นตัว : ใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์

การติดต่อ 

1.จากสัตว์สู่คน

ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางผิวหนัง เยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก ตา, นำซากสัตว์ป่วยมาประกอบอาหาร, ถูกสัตว์ป่วยกัด โดยเฉพาะสัตว์กัดแทะทุกชนิดไม่ใช่เฉพาะลิงเท่านั้น รวมถึงสัตว์ตระกูลหนูซึ่งต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ กระรอกและกระต่ายล้วนแต่เป็นพาหะไวรัสนี้ได้

2.จากคนสู่คน 

ละอองฝอยทางการหายใจ และสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งและรอยโรคที่ผิวหนังของผู้ป่วย โดยการสัมผัสที่เพิ่มโอกาสติดโรคนี้ ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ, กสนกอด นวด จูบ และการอยู่ด้วยกันเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลพบว่าสามารถแพร่กระจายผ่านน้ำอสุจิ หรือ ของเหลวในช่องคลอดได้หรือไม่

จุดให้บริการรักษาโรคฝีดาษวานร 

สำหรับผู้ที่พบว่า มีอาการเข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิงแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัย หากผลตรวจออกมาพบว่า ติดเชื้อให้แยกตัวจากผู้อื่นจนกว่าจะตกสะเก็ดหมดและกินยาบรรเทาอาการตามแพทย์สั่ง รวมถึงงดการมีเพศสัมพันธ์ด้วย

ทั้งนี้ สามารถปรึกษาอาการของโรคฝีดาษลิงได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมงโดยผู้ป่วยสามารถเข้ารักษาตัวได้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของตัวเอง

กรณีมีความจำเป็นสามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทุกแห่ง

  • โรงพยาบาลรัฐ 
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 
  • ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. 
  • คลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือ สถานพยาบาลตามสิทธิที่ไปรักษาเป็นประจำ 

ตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการ หรือ สถานพยาบาล ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในเขตกทม. หรือ คลิกที่นี่