"โรคหัดเยอรมัน-โรคหัด" เทียบอาการและความต่างของโรค

18 มี.ค. 2567 | 06:35 น.

"โรคหัดเยอรมัน -โรคหัด" เทียบอาการ ความต่างและอันตรายของโรค พร้อมวิธีการป้องกันตัวเองและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการระบาดของทั้งสองโรคนี้  

กระแสข่าวการแพร่ระบาดของ "โรคหัด" ที่ประเทศญี่ปุ่นอาจสร้างความสับสนให้กับใครหลายคนว่า โรคหัด กับ โรคหัดเยอรมัน เหมือนหรือต่างกันตรงไหน อย่างไร และวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อการป้องกันโรค

"ฐานเศรษฐกิจ" ชวนไปเปิดข้อมูลและดูความแตกต่างของ โรคหัดเยอรมัน และโรคหัด ร่วมกัน จากข้อมูลของ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้อธิบายเกี่ยวกับ โรคหัดเยอรมัน และ โรคหัด ที่จะมีอาการแตกต่างกันเอาไว้ ดังนี้ 

โรคหัดเยอรมัน (Rubella)

โรคหัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) มักพบการระบาดในโรงเรียน โรงงาน สถานที่ ทำงาน ระบาดบ่อยช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เชื้ออยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หรือ สัมผัสน้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้อหัดเยอรมันอยู่ เชื้อนี้มีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้ถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการทันที ใช้เวลาประมาณ 14 ถึง 21 วันจึงเริ่มเกิดอาการ 

อย่างไรก็ดี พบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนมากมักไม่มีอาการใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เองแต่ถ้าสตรีมีครรภ์ติดเชื้อโรคหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ 3 ถึง 4 เดือนแรกจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทารกในครรภ์ทำให้เด็กที่เกิดมาพิการ เช่น สมองฝ่อ หูหนวก ต้อกระจกตา โรคหัวใจ คนที่เคยเป็นโรคหัดเยอรมันแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ไปตลอดชีวิต

สำหรับทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์จะมีโอกาสมีอวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติได้ตั้งแต่กำเนิด ทั้งนี้ ความรุนแรงขึ้นกับอายุครรภ์ที่ได้รับเชื้อ ความพิการที่พบบ่อย ได้แก่ ความพิการทางตา เช่น ตาต้อกระจก ต้อหิน ความพิการที่หัวใจ หูหนวก ศีรษะเล็ก โครงสร้างสมองผิดปกติ ตัวเล็ก พัฒนาการช้า ตับโต ม้ามโต ตัวเหลือง มีจ้ำเลือดตามตัว และเกล็ดเลือดต่ำ

อาการของเด็กที่เป็นโรคหัดเยอรมัน

อาการโรคหัดเยอรมันจะเริ่มจากต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู ท้ายทอยและด้านหลังของลำคอ มีไข้ ปวดศีรษะ มีอาการคล้ายเป็นหวัด อาจเจ็บคอร่วมด้วย เมื่อมีไข้ประมาณวันที่ 3 จึงเริ่มมีผื่นขึ้น

ลักษณะผื่นจะแบนราบ สีชมพูจางๆ เริ่มขึ้นที่ใบหน้าแล้วลามไปทั่วตัวอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ผื่นเห็นชัดเจนบริเวณแขนขาจะหายไปในเวลา 1 ถึง 2 วัน จากนั้นสีของผิวหนังจะกลับเป็นปกติ ในเด็กอาจมีเพียงอาการผื่นขึ้นโดยไม่มีไข้ หรือไม่มีอาการอื่นนำมาก่อน

อาการของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหัดเยอรมัน

อาการจะคล้ายที่พบในเด็ก แต่ผู้ใหญ่จะมีไข้สูงกว่าเด็ก ผู้หญิงอาจมีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบร่วมด้วย เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ช่วงเวลาที่แพร่เชื้อได้มากที่สุดคือช่วง 2 หรือ 3 วันก่อนผื่นขึ้น และเมื่อผื่นขึ้นแล้วยังสามารถแพร่เชื้อได้อีกประมาณ 7 วัน ดังนั้นในช่วงดังกล่าวผู้ป่วยควรแยกตัวและไม่ไปคลุกคลีกับผู้อื่นเพราะ อาจกระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยไม่ตั้งใจ

การรักษา โรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ไม่มียาต้านไวรัส ถ้าเกิดในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่ตั้งครรภ์ให้รักษาตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ กรณีที่เกิดการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะอายุครรภ์ 3 เดือนแรก แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดดูว่า เคยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสหัด เยอรมันหรือไม่

กรณีตรวจไม่พบภูมิคุ้มกัน แนะนำให้ตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง ภายใน 2 ถึง 3 สัปดาห์ต่อมา ถ้าผลตรวจยังคงเป็นลบ ควรตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อ 6 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค

การตรวจเลือดทุกครั้งควรดูผลเลือดควบคู่กับผลเลือดที่เจาะครั้งแรกด้วยเสมอ กรณีที่ผลเลือดทุกครั้งให้ผลลบแสดงว่าไม่มีการติดเชื้อหัดเยอรมัน แต่ถ้าตรวจครั้งแรกให้ผลลบและครั้งต่อไปให้ผลบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อ ซึ่งแพทย์จะแนะนำเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดกับทารกในครรภ์และอาจพิจารณาให้ ยุติการตั้งครรภ์

การป้องกันโรคหัดเยอรมัน

สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนซึ่งอยู่ในวัคซีนรวม 3 โรค วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) คือสามารถป้องกันโรคคางทูม โรคหัด และโรคหัดเยอรมัน ได้ภายในเข็มเดียวกัน วัคซีนที่ใช้สร้างจากการนำเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง เมื่อฉีดแล้วจะทำให้ร่างกายคนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นช้าๆ และขึ้นสูงสุดในสัปดาห์ที่ 6 ถึง 8 หลังฉีดวัคซีน

1.เด็กเล็ก

วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์นี้ สามารถฉีดเข็มแรกให้กับเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดเข็มที่สองเมื่อเด็กอายุ 4-6 ปี สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหัดเยอรมันก็สามารถ ฉีดวัคซีนดังกล่าวได้

2.ผู้ใหญ่

สำหรับผู้ที่จำประวัติการฉีดวัคซีนในอดีต ไม่ได้ ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคแล้วทั้งจากการได้รับวัคซีน หรือจากการติดเชื้อมาแล้วในอดีต ในปีพ.ศ. 2547 ที่จังหวัดเชียงราย ชลบุรี อุดรธานี และนครศรีธรรมราช ได้มีการศึกษาพบว่า ประชากรที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้แล้วถึงร้อยละ 93 ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในผู้ใหญ่ที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนในอดีต

3.หญิงวัยเจริญพันธุ์

แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ล่วงหน้าก่อนที่จะตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน สำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ห้ามฉีดวัคซีนชนิดนี้เด็ดขาด นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ถ้าไอให้ใช้หน้ากากอนามัย หรือใช้มือปิดปากและจมูก และควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ

ทั้งนี้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันต้องอยู่แยกจากผู้อื่นโดยเฉพาะเมื่อมีผื่นขึ้นแล้วต้องอยู่ห่างผู้อื่นจนครบ 7 วันหลังผื่นขึ้น 

โรคหัด (Measles หรือ Rubeola) 

เกิดจากเชื้อไวรัสรูบิโอลา (rubeola virus) พบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรคหัด ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมาก โดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน 

โรคหัดเกิดได้กับทุกอายุและพบบ่อยในเด็กที่อายุระหว่าง 2 ถึง 14 ปี แต่ไม่ค่อยพบในทารกที่มีอายุน้อยกว่า 6 ถึง 8 เดือน เนื่องจากมีภูมิต้านทานที่ได้รับจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โรคนี้พบได้ตลอดปี ส่วนมากเกิดในช่วงฤดูหนาวจนถึงต้นฤดูร้อน โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์และเดือนสิงหาคม สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดของโรค นอกจากนี้ผู้ที่อาศัยอยู่รวมกันหนาแน่น หรือในศูนย์อพยพ วัด โรงเรียน ฯลฯ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคหัดได้

อาการของโรคหัด

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคหัดเข้าไปประมาณ 7 วันจึงจะเริ่มมีอาการ ช่วงแรกอาการคล้ายไข้หวัด และมีไข้สูงตลอดเวลา รับประทานยาลดไข้แล้วไข้ก็ไม่ลด อ่อนเพลีย ซึมลงหรือกระสับกระส่าย ร้องกวน เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้ง น้ำตาไหล ไม่สู้แสง หนังตาบวม บางรายอาจถ่ายเหลวบ่อยเหมือนท้องเดิน หรืออาจชักจากไข้ ต่อมาผื่นจะขึ้นเริ่ม 

ลักษณะเฉพาะของโรคหัด คือ มีไข้สูง 3 ถึง 4 วันแล้วจึงเริ่มมีผื่นขึ้น ลักษณะผื่นเป็นจุดแดงเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด โดยเริ่มเห็นผื่นขึ้นที่บริเวณตีนผมและซอกคอก่อนเป็นอันดับแรก แล้วลามไปตามใบหน้า ลำตัวและแขนขา ผิวหนังโดยรอบอาจเป็นสีแดงระเรื่อ บางครั้งอาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นจะไม่จางหายไปทันทีแต่จะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วันนับจากวันแรกที่ผื่นเริ่มขึ้น หลังจากผื่นจางลง มักเปลี่ยนเป็นสีคล้ำในช่วงแรก โรคหัดส่วนใหญ่หายได้เองและเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย

การรักษาโรคหัด

รักษาและปฏิบัติตัวเหมือนโรคไข้หวัดทั่วไป คือ พักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ เช็ดตัวลดไข้ ไม่อาบน้ำเย็น กินยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะในช่วงแรก เพราะถ้าแพ้ยาจะทำให้บอกความแตกต่างระหว่างผื่นแพ้ยากับผื่นโรคหัดได้ยาก ถ้ามีอาการไอ เสมหะเริ่มข้นหรือเขียว หรือหายใจมีเสียงวี๊ด (wheeze)เนื่องจากหลอดลมตีบ ควรพบแพทย์

การป้องกัน

โดยปกติวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นวัคซีนตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ ต้องฉีดให้เด็กทุกคนที่อายุระหว่าง 9 ถึง 12 เดือน ฉีดเพียงครั้งเดียวสามารถป้องกันโรคหัดได้ตลอดไป และให้ฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4 ถึง 6 ปี วัคซีนป้องกันโรคหัดมีทั้งชนิดเดี่ยวและชนิดที่รวมกับวัคซีนป้องกันโรคหัด เยอรมันและโรคคางทูม (MMR) ในเข็มเดียวกัน ขอรับการฉีดวัคซีนดังกล่าวได้ที่สถานีอนามัยใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลทั่วไป


ที่มา: สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย