นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องกัญชาไทยกำลังเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะกระทรวงสาธารณสุขจะดึงกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติดอีกครั้ง หลังจากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้แก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ดึงกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดประเภท 5 ในประเด็นนี้หากมี พ.ร.บ. มาควบคุมโดยตรงจะเกิดผลดีมากว่า จะจัดการได้ทั้งระบบ ซึ่งรัฐบาลไม่สนใจดำเนินการในส่วนนี้ ฉะนั้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณบ่ายโมง ทางเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ที่เคยประสานงานกับผู้ประกอบการทั่วประเทศจัดทำร่าง พ.ร.บ.กัญชา จะเดินทางพร้อมผู้ประกอบการจากทั่วประเทศประมาณ 70 ราย ไปพูดคุยกับ “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1.ขอให้กระทรวงสาธารณะสุข จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบกัญชากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพื่อดูว่ามีข้อดีและข้อเสียอะไร รวมถึงคุณสมบัติในการรักษาโรคหรือเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร ก่อนจะตัดสินให้กัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติด หากพิสูจน์ได้ว่ากัญชาไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ จะต้องอนุญาตให้กัญชาใช้งานได้ตามปกติและอยู่กับสังคมได้ภายใต้กฎหมายควบคุม ซึ่งขบวนการกำหนดนโยบายต้องมาจากข้อเท็จจริง
2. เมื่อจัดทำข้อมูลตามข้อ 1. เรียบร้อยแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะต้องทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์รอบด้านว่า ระหว่างกัญชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ สิ่งที่เกิดผลกระทบร้ายแรงที่สุดคืออะไร ซึ่งข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาสตร์นั้นจะบ่งชี้ได้ว่าควรนำอะไรบรรจุให้เป็นสารเสพติด หากไม่ทำในส่วนนี้แล้วตัดสินกัญชาโดยไร้ข้อเท็จจริงจะเกิดความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน
ในอนาคตหากกัญชาถูกปรับเป็นสารเสพติดจริงจะเกิดผลกระทบรุนแรงที่สุด คือ
ปัจจุบันธุรกิจการปลูกกัญชาถือว่ามีอุปทานส่วนเกิน (Over Supply) ผู้ผลิตมีสินค้าออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้บางรายขายไม่ได้ ราคาตก หลายคนต้องการเพิ่มราคาเพื่อใช้เฉพาะในทางการแพทย์เท่านั้น โดยผลักดันให้กลับไปเป็นยาเสพติดซึ่งต้องควบคุมการซื้อขายอย่างจำกัด แน่นอนว่าการปลูกกัญชาลงทุนสูง ฟาร์มขนาดใหญ่อาจมีมูลค่าการลงทุนหลายล้านบาท และเหลืออายุใบอนุญาตให้ซื้อขายได้เพียง 6 เดือน ซึ่งใบอนุญาตก็ต้องต่ออายุทุกปี และหากสิ้นสุดสัญญาในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 หลังจากนี้จะเกิดผลกระทบทันที นักปลูกกัญชาที่โผล่ขึ้นมาพร้อมใบอนุญาตจะกลับลงสู่ใต้ดิน กลับไปสู่วังวลเดิมและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ที่สำคัญกลไกลการปลูกจะไม่ปลอดภัย การใช้ก็ไม่ปลอดภัยด้วย
"ตอนนี้ในธุรกิจกัญชาสามารถปลูกและขายได้เป็นปกติ เรียกว่ากัญชาเสรีที่สุดในโลกอยู่ที่ประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่ออกกฎหมายมาควบคุม แม้จะร่าง พ.ร.บ.กัญชา ถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้วถึง 4 ฉบับ ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ กลับจะถูกผลักให้กลายไปเป็นยาเสพติด สิ่งที่เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชายไทยต้องการ คือกฎหมายเข้ามาควบคุมโดยไม่จำเป็นต้องถูกผลักดันให้กลับไปสู่สารเสพติด เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะกระทบกับประชาชนหลายภาคส่วน ปิดประตูหลายธุรกิจที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาท และจะเกิดการผูกขาด มีผู้ผลิตน้อยราย ใช้ได้เฉพาะในวงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สร้างเม็ดเงินในวงแคบเท่านั้น และสุดท้ายกัญชาก็จะกลายสภาพเป็นธุรกิจที่อยู่ในลักษณะเดียวกันกับเหล้าและเบียร์ ฉะนั้นการควบคุมกฎหมายโดยพระราชบัญญัติจะเป็นประโยชน์ มากกว่าการนำกลับเข้าไปสู่การเป็นยาเสพติด"
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า ตั้งแต่ปลดล็อคกฎหมายให้สามารถใช้กัญชาได้ ประชาชนบางส่วนสามารถปลูกกัญชาและนำไปปรุงยาเองได้ ถ้าหากต้องขอยาที่เกี่ยวกับกัญชาที่โรงพยาบาลก็ต้องมีใบรับรองทางการแพทย์กำกับ แต่แพทย์บางคนก็มีอคติกับกัญชา เพราะถือว่าเป็นสารเสพติด ต้องมีหลักฐานงานวิจัยมารองรับก่อนถึงจะจ่ายยาที่เกี่ยวกับกัญชาให้คนไข้ ซึ่งงานวิจัยไทยก็มีอยู่น้อยมาก รวมถึงกฎหมายไทยที่ใช้กับกัญชาก็เป็นเพียง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ 2565 กำกับให้ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถครอบครองใช้ประโยชน์สมุนไพรควบคุม ยกเว้นห้ามใช้ในผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร ในขณะที่ต่างประเทศหลายประเทศ มีงานวิจัยสามารถใช้ได้และมีกฎหมายของแต่ละประเทศกำหนดการใช้ชัดเจนมากกว่าประเทศไทย เช่น สหรัฐอเมริกา แคนนาดา เนเธอร์แลนด์ เยอรมันนี
สำหรับประเทศไทย ปลดล็อคกฏหมายให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชา-กัญชงได้มาประมาณ 2 ปีแล้ว โดยใบอนุญาตจะแยกออกเป็น 2 แบบ 1. ใบอนุญาตที่ต้อง MOU กับหน่วยงานต่างๆ 2.ใบอนุญาตปลูกที่สามารถปลูกใช้ได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วก็ไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน มีอยู่ประมาณ 1 ล้านใบอนุญาต เบื้องต้นคาดการณ์ว่าน่าจะปลูกจริงตามใบอนุญาตอยู่เพียง 70% และใบอนุญาตขอเป็นผู้ขายประมาณ 1 หมื่นใบอนุญาต ทำให้ปัจจุบันผลิตและผู้ใช้กัญชา รวมทั้งการนำไปแปรรูปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มีจำนวนมาก เช่น การใช้เพื่อผลิตยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ เป็นต้น เรียกได้ว่ากัญชาช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล
ในอีกทางก็ทำให้เกิดการฟื้นตัวของภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สามารนำกัญชามารักษาโรคได้ ยกตัวอย่างในพื้นที่ภาคใต้ มีตำรายาหมอพื้นบ้านที่เรียกว่า “หนังสือบุด” เป็นตำรายาโบราณที่เกือบทุกสูตรยาต้องใช้กัญชาเป็นส่วนผสม ฉะนั้นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถปลูกและใช้กัญชาได้ หมอพื้นบ้านก็สามารถกลับมาพัฒนาสูตรยาจากหนังสือตำรายาโบราณได้เช่นกัน หลังจากเลือนหายไปหลายสิบปี
"การปลดล็อคกัญชาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนคนทั่วไปที่ยากจนมีโอกาส มีทางเลือกเข้าถึงการรักษาแบบพื้นบ้านมากขึ้น อย่างกลุ่มเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ก็ทำน้ำมันกัญชา ทำยาสมุนไพร ที่เติมกัญชาเข้าไปแล้วจะช่วยบรรเทาปวดได้ดีมาก โดยเฉพาะโรคร้ายที่หมอไม่สามารถรักษาได้แล้ว เช่น มะเร็ง โรคด่างขาว ซึ่งในทางการแพทย์จริงๆ ไม่ได้ใช้ในโรงพยาบาลเสมอไป เพราะแท้ที่จริงแล้วการใช้กัญชาในประเทศไทยเป็นภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ"