‘สารี’ หารือผู้ว่าฯ แก้ปัญหา สิทธิบัตรทองใน กทม.

13 ก.ค. 2567 | 04:52 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2567 | 05:01 น.

“สารี อ๋องสมหวัง” จ่อหารือกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ เร่งแก้ปัญหาผู้ป่วยบัตรทองใน กทม. หลังพบต้องจ่ายเงินค่ารักษาเอง ระบบส่งต่อล่าช้า ตามสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณีผู้ป่วยบัตรทองในเขตกรุงเทพฯ ร้องเรียนผลกระทบที่ได้รับจากการบริการด้านสุขภาพ ที่ไม่ได้รับความสะดวกในการรักษาพยาบาล ถูกเรียกเก็บเงินเมื่อรับยานอกบัญชี เรียกเก็บค่าบริการนอกเวลา มีค่ารักษาพยาบาลแพงเกินจริง และมีความล่าช้าในระบบส่งตัวรักษาต่อ หรือส่งตัวไม่ได้

ล่าสุดจากการประชุมร่วมกับเครือข่ายฯ มีข้อสรุปสำคัญดังนี้ 1. การส่งตัวผู้ป่วยเพื่อรักษาต่อไม่ควรเป็นภาระของผู้ป่วย ที่ต้องออกเงินค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง 2. ผู้ป่วยควรเข้าถึงบริการการรักษาถ้วนหน้าหน้าโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรร่วมมือกับศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร เพื่อดูแลระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ชัดเจน และอยากให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 ศูนย์ ทำหน้าที่คล้ายโรงพยาบาลชุมชน โดยแต่ละแห่งดูแลคนไข้ 5-7 หมื่นคน

“ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีผู้มีสิทธิ์บัตรทองที่เป็นประชากรในพื้นที่อยู่ประมาณ 3.5 ล้านคน ซึ่งขึ้นทะเบียนจริงประมาณ 2.9 ล้านคน และมีเพียง 5 หมื่นคนที่รู้ว่าสิทธิ์บัตรทองของตัวเองต้องเข้ารับการรักษาที่ใด ฉะนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ หากศูนย์บริการสาธารณสุขดึงคลินิกเอกชนต่างๆ เข้ามาร่วมให้บริการประชาชน สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาสุขภาพที่จำเป็นได้มากขึ้น โดยเรื่องนี้เครือข่ายผู้ป่วยและสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เตรียมนัดหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 2 สัปดาห์หรือภายในเดือนนี้ เบื้องต้นขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปออกแบบแก้ปัญหาการจ่ายเงินที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาของผู้ป่วยแล้ว”

‘สารี’ หารือผู้ว่าฯ แก้ปัญหา สิทธิบัตรทองใน กทม.

สำหรับผู้ป่วยหรือประชาชนที่ประสบปัญหาดังกล่าว มักเป็นกลุ่มที่มีปัญหาโรคเรื้อรังและมีค่าใช้จ่ายสูง บางคนต้องเสียเวลาดำเนินการขอใบส่งตัวเพื่อส่งต่อการรักษา ต้องไปโรงพยาบาลนั่งต่อคิวอยู่โรงพยาบาลทั้งวัน ฉะนั้นข้อเสนอดังที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ ซึ่งตัวเลขร้องเรียนของคนกรุงเทพฯที่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพเมื่อมีความจำเป็นมีอยู่หลายพันคน จนอาจกล่าวได้ว่าต้องตะเกียกตะกายถึงได้รับการรักษา บางคนเสียชีวิตก่อนได้รับการรักษาต่อเนื่อง ขณะที่การบริการในต่างจังหวัดจะเห็นเส้นทางการรักษาผู้ป่วยที่สะดวกและชัดเจนมากกว่า

โดยที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากบริการด้านสุขภาพ ทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สิทธิบุคคลผู้มีปัญหาสถานะ สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ฯลฯ จำนวนมาก โดยสิทธิบัตรทองได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาตั้งแต่ปี 2565 - 2567 จำนวนรวม 1,572 ราย เฉพาะปี 2567 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ร้องเรียนเข้ามาจำนวน 334 ราย และปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในผู้ป่วยบัตรทอง คือ ไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข”

นางสาวสารี กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากกรณี สปสช. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเบิกจ่ายเงินจากรูปแบบการจ่ายตามรายการ เป็นการเหมาจ่ายรายหัวตามข้อเสนอของคลินิกชุมชนอบอุ่นที่มีการเรียกร้องก่อนหน้านี้ โดยปรับรูปแบบการจ่ายเงินตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าการจ่ายเงินมีผลต่อบริการ เพราะหากเข้ารับการรักษาในคลินิกที่เข้าร่วม ผู้ให้บริการอาจรู้สึกว่าได้เงินน้อยลง และไม่คุ้มหากต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของ สปสช. เรื่องจังหวัดที่ดำเนินงานตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พ.ศ. 2567 โดยมีรายชื่อทั้งสิ้น 42 จังหวัด ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในลำดับที่ 42 ด้วยนั้น พบว่า ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถใช้บริการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ได้