12 สิงหาคม เนื่องในวันแม่แห่งชาติ มักนิยมใช้ดอกมะลิซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอมมอบให้กับคุณแม่เพื่อแสดงความรัก การเคารพบูชาและแสดงความกตัญญูกตเวทีแล้ว ดอกมะลิ ยังมีประโยชน์และใช้ในตำรับยาไทยอีกด้วย
นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวให้ข้อมูลว่า ดอกมะลิ นิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มและอาหารที่ช่วยคลายร้อน ช่วยให้ร่างกายสดชื่น ผ่อนคลาย แก้อาการอ่อนเพลีย เช่น ชาดอกมะลิ น้ำลอยดอกมะลิ ข้าวแช่ ขนมวุ้นดอกมะลิ ชาเบญจเกสร (เกสร 5 ชนิด ได้แก่ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ และเกสรบัวหลวง) มีสรรพคุณ รสหอมเย็น ช่วยผ่อนคลาย ช่วยบำรุงหัวใจ
อย่างไรก็ดี การจะนำดอกมะลิมาใช้เป็นส่วนประกอบในชาหรืออาหารเพื่อรับประทานไม่ควรใช้ในปริมาณที่สูงเกินไปเพราะกลิ่นที่แรง อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะได้
ควรใช้ดอกมะลิที่ปราศจากสารเคมีและสิ่งเจือปน ล้างให้สะอาด หากใช้เป็นดอกที่ตากแห้ง ควรต้องตรวจสอบดูว่า เก็บรักษาอย่างดีไม่มีเชื้อรา ไม่มีสีที่เข้มคล้ำจนเกินไป หรือแมลงขนาดเล็กเจือปน เพื่อจะได้ประโยชน์และปลอดภัยอย่างแท้จริง
นพ.ขวัญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมีการนำดอกมะลิมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ
1.ยาหอมเทพจิตร มีมะลิเป็นส่วนผสมหลักของตำรับ สรรพคุณ แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
ปัจจุบันได้มีการผลิตในรูปแบบยาชนิดผงและชนิดเม็ดเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน โดยให้รับประทานในปริมาณ 1-1.4 กรัม รับประทานเมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง ควรระวังในการใช้ยากับผู้ที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ และการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม และ ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด
อีกทั้งยังมีการศึกษาเกี่ยวกับยาหอมเทพจิตรกับคุณภาพการนอนหลับซึ่งพบว่า ตำรับยาหอมเทพจิตร ช่วยเพิ่มคุณภาพของการนอนหลับได้
2.ยาประสะจันทน์แดง บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน (ไข้พิษ) แก้ร้อนในกระหายน้ำ
วิธีใช้ ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 3 - 4 ชั่วโมง เด็กอายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 3 - 4 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก และผู้แพ้เกสรดอกไม้ไม่ควรใช้ยานี้ หากใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ ด้วยสรรพคุณมะลิ ที่มีกลิ่นหอมเย็น จึงช่วยผ่อนคลาย บรรเทาความเครียด
ปัจจุบันจึงมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามหลากหลายชนิด เช่น สบู่ แชมพู ครีมทาผิว และยังนำมาใช้ทาง สุคนธบำบัด (การบำบัดด้วยกลิ่น) สปา เครื่องหอมต่าง ๆ เช่น น้ำหอม น้ำมันนวด เทียนอโรม่า เพื่อช่วยผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อช่วยปรับสภาพจิตใจและอารมณ์ให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพร ในการรักษาโรคหรือบรรเทาอาการสามารถปรึกษาแพทย์แผนไทยในสถานบริการสุขภาพของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อ โดยตรงที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2149 5678