ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร จัดทีมลงพื้นที่ 50 เขต ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ข้อมูล เชิญชวน และอำนวยความสะดวกแก่หน่วยบริการเอกชนทั้ง คลินิก สถานพยาบาล และร้านยาเอกชน ในการขึ้นทะเบียนโครงการ “30 บาท รักษาทุกที่ กรุงเทพมหานคร” เพื่อยกระดับการให้บริการสาธารณสุข เพื่อประชาชนชาวกรุงเทพมหานครผู้ถือสิทธิบัตรทอง ได้ใช้บริการผ่านหน่วยบริการนวัตกรรมได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้
ทั้งนี้ ได้ยกระดับ Contact Center 1330 เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชน รวมถึงการปรับปรุงระบบออนไลน์แบบ One Stop Service เพื่อรองรับทั้งในส่วนการขึ้นทะเบียนและการเบิกจ่ายสำหรับหน่วยบริการนวัตกรรม ให้สามารถลงทะเบียนง่าย จ่ายเงินคืนเร็ว พร้อมกันนี้ด้วย
ปัจจุบันมีหน่วยบริการเอกชนในกรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,500 แห่ง โดยสัดส่วน กลุ่มที่ตอบรับมากที่สุดคือร้านยา GPP+ จำนวน 865 แห่ง ตามมาด้วยคลินิกเวชกรรม 143 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 123 แห่ง
นอกจากนี้ สปสช. ยังได้ขยายบริการเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความและลดความแออัดให้กับโรงพยาบาลขนาดใหญ่และหน่วยบริการนวัตกรรมทั้ง 7 ประเภท ด้วยการเพิ่มบริการแพทย์ทางไกล เจาะเลือดที่บ้าน รถรับส่งผู้ป่วย รถทันตกรรมเคลื่อนที่ และตู้เทเลเมดดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน เป็นต้น
หน่วยบริการเอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถเตรียมเอกสารสมัครดังนี้
ทั้งนี้ สามารถยื่นเอกสารสมัครขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้แล้วแบบ One Stop Service ผ่านทางเว็บไซต์ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สายด่วน สปสช. ส่วนประชาชนผู้ถือสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการได้เลย ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ใช้เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียว โดยสังเกตตราสัญลักษณ์ใหม่สีแดง “30 บาทรักษาทุกที่” ซึ่งจะปรากฏที่หน่วยบริการนวัตกรรม 7 ประเภท ได้แก่ คลินิกเวชกรรม, คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์, คลินิกทันตกรรม, คลินิกเทคนิคการแพทย์, คลินิกการแพทย์แผนไทย , คลินิกกายภาพบำบัด และ ร้านยา GPP+ ร้านยาคุณภาพ