ฝีดาษลิงยังน่ากลัว ไทยเตรียมนำเข้าวัคซีนรุ่น 3 รับมือการระบาด

11 ก.ย. 2567 | 20:00 น.

กรมควบคุมโรค เผย ยอดผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร สะสมกว่า 800 ราย เสียชีวิตแล้ว 13 ราย เผยเตรียมนำเข้าวัคซีนรุ่น 3 ภายใน 4 เดือน

ในการแถลงข่าวรู้ทันสถานการณ์ กรมควบคุมโรค จับตา โรคอุบัติใหม่ซ้ำ โดย นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ของไทยพบว่า ผู้ป่วยลดลงจากสัปดาห์ก่อนมีแนวโน้มดีขึ้นผ่านพ้นช่วงฤดูระบาดแล้ว 

ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นในเด็กเล็กมากสุด แต่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวและไม่รับวัคซีน แนะนำให้รับวัคซีนก่อนฤดูกาลระบาด โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์สามารถรับวัคซีนได้ตลอดทั้งปี 

อย่างไรก็ดี ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้รณรงค์การรับวัคซีนในประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเป้าหมาย 4,170,210 คน เข้ารับแล้ว 3,802,584 คน คิดเป็น 91.18% 

ส่วนโรคปอดอักเสบหรือไวรัสอาร์เอสวี (RSV) พบในสัดส่วนที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งทั้ง 3 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจดังกล่าว แนะนำให้หมั่นล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านและรับประทานอาหารปรุงสุกร้อนสะอาด  

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก แนวโน้มสูงขึ้นทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะเขตภาคเหนือและภาคใต้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยเรียนแต่พบผู้เสียชีวิตมากขึ้นในกลุ่มวัยทำงาน เนื่องจากมีโรคประจำตัวไปรพ.ช้าได้รับยากลุ่ม NSAIDs และมีภาวะอ้วน ติดสุรา

ขณะที่โรคติดเชื้อไวรัสซิกาซึ่งมียุงลายเป็นพาหะเช่นกัน พบผู้ป่วยน้อยกว่าปีที่ผ่านมาแต่ต้องย้ำเตือนในหญิงตั้งครรภ์เพราะหากติดเชื้อจะกระทบต่อทารกทำให้ศีรษะเล็ก ย้ำป้องกันไม่ให้ยุงกัด หากมีไข้และผื่นขึ้นให้รีบพบแพทย์

ขณะที่โรคฝีดาษวานรนั้น สถานการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2566-2567 มีผู้ป่วยสะสม 835 ราย เป็นเพศชาย 98% เสียชีวิตสะสม 13 รายทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อ HIV โดยปี 2567 มีผู้ป่วย 144 ราย เสียชีวิต 4 ราย สายพันธุ์ที่ระบาดเป็น Clade2 รุนแรงน้อยกว่า Clade1ซึ่งพบผู้ติดเชื้อนำเข้าเพียง 1 รายเป็นชายชาวยุโรปปัจจุบันหายแล้ว ขณะที่ผู้สัมผัสไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม 

ทั้งนี้ ล่าสุดที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งที่ 5/2567 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการนำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรเข้ามาในประเทศไทยเพื่อควบคุมการระบาดโดยเน้นพื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลทางระบาดวิทยา

กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงสูงต่อการติดโรค และการสัมผัสผู้ป่วย และผู้ที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิดภายใน 4 วันตามข้อมูลการสอบสวนโรค คาดว่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนเป็นรุ่นที่ 3 เร็วที่สุดภายใน 4 เดือน