สธ.เร่งแก้ปัญหารพ.ขาดทุน ย้ำเหลือเงินสดแค่ 2 หมื่นล้าน

12 ก.ย. 2567 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2567 | 10:09 น.

สธ. ย้ำร่วมแก้ปัญหา รพ.ขาดทุน “ปลัดสธ.” เผย ปัญหาหนักมีเงินไม่พอบริหารจัดการ เหลือเงินบำรุงเป็นเงินสดเพียง 2 หมื่นล้านบาท

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข​ (สธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 ถึงสถานการณ์โรงพยาบาลที่ประสบปัญหาขาดทุนว่า กระทรวงสาธารณสุขมีข้าราชการในระบบ 4-5 แสนคน ดูแลประชาชนในการบริการผู้ป่วยนอกประมาณ 1 ล้านคน ผู้ป่วยในวันละ 1 แสนคน แต่ละวันกระทรวงมีปฏิสัมพันธ์กับคนอย่างต่ำวันละ 2-3 ล้านคน ซึ่งไม่ห่วงเรื่องความสามารถ

สิ่งที่องค์กรขนาดใหญ่ต้องดำเนินการ​ คือ ความยั่งยืน เราจะดีใจว่า​ ระบบสาธารณสุขเราดี ไม่ได้ดีใจว่าคนต่างชาติ คนในประเทศชื่นชมอย่างเดียวคงไม่ได้ ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงต้องไปดูว่า​ มีจุดไหนพัฒนาได้​ ความยั่งยืนจะเกิดอย่างไร คือ เป้าหมายสามารถทำได้สำเร็จ ภายใต้ทรัพยากรเพียงพอ มีการพัฒนาต่อยอด ปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้านการเงินซึ่งจากปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน อย่างเมื่อก่อนเรียกว่า โรงพยาบาลวิกฤติการเงินระดับ 7 อย่างสมัย​ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ และนพ.โสภณ เมฆธน เป็นปลัดสธ. มีเรื่องนี้และเชิญ CFO มาหารือทางการเงิน

คนอาจไม่สนใจ และพอเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลขาดทุน คนสนใจ หลายคนคิดว่า ทำไมโรงพยาบาลต้องคิดกำไร ขาดทุน จริงๆ เราไม่ได้คิด แต่โรงพยาบาลขาดทุน ก็เพราะว่า เริ่มจะมีเงินไม่เพียงพอในการบริหารจัดการ ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะทราบปัญหา เพราะหากงบไม่พอ สิ่งที่ตามมาคืออะไร บุคลากรก็จะได้รับค่าตอบแทนน้อยลง

สธ.เร่งแก้ปัญหารพ.ขาดทุน ย้ำเหลือเงินสดแค่ 2 หมื่นล้าน

นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า  บางคนมองว่าเงินบำรุงเอาไปเยอะ​ ๆ​ ทำไม ต้องบอกว่าโรงพยาบาลเรามีกว่า 1,000 แห่ง มีค่าบริหารจัดการ ทั้งค่าตอบแทน ค่ายา ค่าน้ำค่าไฟ ค่าซ่อมแซมต่างๆ ต้องใช้เงินหมด เราใช้เงินสำหรับการจัดการปรับปรุงซ่อมแซมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เดิมเราไม่ค่อยคำนวณมาบอกใคร และการบริหารในองค์กร อย่างเงินสดสำรองต้องมีอย่างต่ำ 3-6 เดือน ซึ่งตัวเลขที่องค์กรขนาดใหญ่ใช้กันคือ 6 เดือน แสดงว่า​ ต้องมีเงินอย่างต่ำ 6 หมื่นล้านบาท

ถามว่ากระทรวงมีเท่าไร เดิมไม่มีใครบอกได้ เพราะโรงพยาบาลต่างคนต่างทำ แต่เมื่อมีระบบ Financial Data Hub ทำให้ทราบว่า ขณะนี้มีเงินบำรุงอยู่ 4 หมื่นล้านบาทแต่ในนั้นกลายเป็นเงินสดเพียง 2 หมื่นล้านบาท อีก 2 หมื่นล้านบาทเป็นตัวเลขทางบัญชี อย่างหนี้สินระหว่างกัน สรุปว่ามีเหลือ 2 หมื่นล้านบาท

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จะทำอย่างไรให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง หากเราสามารถจัดการเรื่องบุคลากร ทรัพยากรอย่างเพียงพอ เราก็จะเจอปัญหา อย่างงบลงทุน แต่ละเขตสุขภาพได้ 500 ล้านบาท บางคนบอกเยอะ แต่จริงๆ ไม่เยอะ จำนวนนี้สร้างตึกไม่ได้

แต่ยังมีรายจ่ายครุภัณฑ์ต่างๆ อย่างโรงพยาบาลอุ้มผาง ก็มีค่าซ่อมแซมมากมาย และส่วนใหญ่รักษาคนที่เราไม่สามารถเบิกเงินได้  งบบัตรทองไม่ให้เพราะไม่ใช่คนไทย ดังนั้น ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้คือ เงินพอ คนพอ และ process เพียงพอ โดยการปรับโครงสร้างการบริหารงานสาธารณสุขให้เหมาะสมด้วย