จี้รัฐแก้ปัญหา ผู้ป่วยเพิ่ม-แพทย์ขาด รับดีมานด์ Holistic Health พุ่ง

21 ก.ย. 2567 | 22:15 น.

ชี้ดีมานด์ “การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม” พุ่ง เหตุคนไทยต้องการมีสุขภาพดี ชีวิตยืนยาว แต่ขาดความรู้ความเข้าใจ สวนทาง “แพทย์” ที่มีความรู้มีเพียง 10% ขณะที่ภาครัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ส่งผลตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มทุกปี

ข้อมูลจากโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute: GWI) คาดการณ์ว่าปี 2568 เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) จะมีมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 230 ล้านล้านบาท ในตลาดสุขภาพและความงามทั่วโลกมีมูลค่าถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 5.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 การเติบโตนี้เกิดจากประชากรที่มีอายุมากขึ้น สอดคล้องกับประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทว่าหลายคนยังขาดองค์ความรู้สำคัญ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health)

ผศ.ดร.นพ.พัฒนา เต็งอำนวย ประธานกรรมการบริษัท เฮลท์ เอดูเคชั่น แอนด์ อคาเดมิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันผู้คนพูดถึงเรื่อง Wellness อย่างแพร่หลาย แต่การดูแลรักษาสุขภาพ มีเรื่องแยกย่อยออกมาอีกหลายศาสตร์ เช่น เวชศาสตร์ชะลอวัย หรือ Anti-Aging medicine, เวชศาสตร์วิถีชีวิต หรือ lifestyle medicine , เวชศาสตร์ป้องกันโรค หรือ Preventive Care เป็นต้น โดยสิ่งที่ผู้คนเริ่มสนใจมากที่สุดคือ การมีสุขภาพดีและอยากมีชีวิตยืนยาวมากยิ่งขึ้น และหากใช้คำจำกัดความที่เหมาะสมน่าจะเรียกได้ว่า “Wellness Management”

“คนไทยที่รู้เรื่องของ “Health Literacy” หรือความรู้ทางด้านสุขภาพน้อยมาก หลายหน่วยงานในระบบสาธารณสุขก็มีความรู้แตกต่างกัน แต่ถือว่าพัฒนาดีขึ้นมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากแพทย์ คนทั่วไป นักลงทุน รวมทั้งผู้ประกอบการ เริ่มหันมาสนใจด้านนี้จนเป็นที่มาของสถานประกอบการด้านเวลเนสและมีระบบการดูแลเกี่ยวกับสุขภาพครบวงจร ขณะเดียวกันแพทย์ที่รักษาคนไข้ในปัจจุบันกลับไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นตัวอย่างของการมีสุขภาพดี เพราะบางคนทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ เครียด ไม่มีเวลาพักผ่อน หาเงินอย่างเดียว ฉะนั้นองค์ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจะต้องขยายขอบเขตให้ผู้คนโดยทั่วไปให้มากขึ้น

จี้รัฐแก้ปัญหา ผู้ป่วยเพิ่ม-แพทย์ขาด รับดีมานด์ Holistic Health พุ่ง “เราต้องเข้าใจว่าแพทย์ผู้รู้ลึกรู้จริงเรื่องศาสตร์ของการดูแลสุขภาพก่อนคนไข้จะเจ็บป่วย ที่ทำให้คนไข้มีอายุยืนยาวและสุขภาพดีมีอยู่น้อยมาก อาจแค่ประมาณ 10% ของแพทย์ทั้งหมดในประเทศไทย และไม่ใช่การรักษาโรคแต่เป็นวิธีที่ทำให้ไม่ป่วย ซึ่งเริ่มตั้งแต่อาหารการกิน โดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องการกินยา เจ็บป่วยน้อย ออกกำลังกายและทำงานได้”

ผศ.ดร.นพ.พัฒนา กล่าวว่า การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมควรมีหมอเพียง 1 คนที่ดูแลคนไข้ได้ทั้งร่างกาย ให้ดีจากทั้งภายในและภายนอก ดีในทุกอวัยวะ โดยไม่ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอวัยวะแล้วตัดเฉพาะส่วนการดูให้กินยามากเกินความจำเป็น

เรื่องนี้รัฐบาลรู้ปัญหาและกำหนดเป็นนโยบายเอาไว้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของคนไทย แต่กลับแก้ไขไม่ตรงจุด เช่น อยากลดจำนวนคนป่วยแต่จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการวินิจฉัยมากขึ้น ทำให้พบคนป่วยยิ่งเพิ่มขึ้น แทนที่จะให้ความรู้ก่อนป่วย และนโยบายก็เปลี่ยนทุกปี เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นไม่ยั่งยืน ในบางครั้งอาจไม่ทราบถึงต้นเหตุปัญหาก่อนคนไทยจะป่วยด้วยซ้ำ แค่รู้ว่ามีคนป่วยเป็นโรคอะไรบ้างมากขึ้น

ยกตัวอย่างกลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่เพิ่มขึ้นทุกปี บ่งบอกถึงความล้มเหลวในการรักษาโรคไตของไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้คนไทยยังป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดและสมองมากที่สุด ส่วนโรคที่เสียชีวิตมากที่สุดคือโรคมะเร็ง กรณีการเจ็บป่วยเหล่านี้มีทางแก้คือ ศาสตร์ชะลอวัย ศาสตร์การป้องกันโรค เป็นพื้นฐานด้านสุขภาพช่วยสร้างเศรษฐกิจที่ดีได้

“โดยส่วนตัวผมมีคนไข้อยู่ในความดูแลกว่า 2,000 คน อายุเกิน 60 ปี มากกว่า 50% ดูแลกันจนถึงวันสิ้นลมหายใจ คนไข้อายุยืนที่สุดคือ 101 ปี บางคนสามารถทำงานได้ปกติโดยไม่เจ็บป่วย ซึ่งเรียกว่า “Health Span” คือการมีสุขภาพดีที่ยั่งยืน ไม่ใช่แค่คนอายุยืนแต่นอนติดเตียง แบบ “Life Span” และคนในปัจจุบันเริ่มมองหาแพทย์ที่ดูแลรักษาทำให้ร่างกายไม่ป่วยมากยิ่งขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงแพทย์เฉพาะทางรักษาเฉพาะจุดที่อาจตอบโจทย์ลูกค้าไฮเอนด์และต่างชาติ ในด้านการรักษาโรคของคนไทยถือว่าดีเยี่ยม แต่การมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนเมืองไทยยังไม่ดีพอ (Wellness Hub) จนกว่าจะเข้าใจคำว่าเวลเนสแบบองค์รวมอย่างแท้จริง”