เทรนด์ดูแลสุขภาพ "ก่อนป่วย" มาแรง คาดดันจีดีพีประเทศไทยพุ่ง 3 เท่า

07 ต.ค. 2567 | 13:42 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 14:34 น.

ผู้ประกอบการเผยตลาด Healthcare มาแรง เทรนด์ดูแลสุขภาพ "ก่อนป่วย" เป็นวัฒนธรรมใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCDs ควรตรวจหาความผิกปกติให้เร็วก่อนรักษายาก คาดการณ์ธุรกิจด้านนี้เพิ่มจีดีพีประเทศไทยสูงถึง 3 เท่า

นางสาวนทพร บุญบุบผา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงาน “ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity” ซึ่งจัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ “Thailand Wellness Tourism Competitiveness” ว่า 

 

ปัจจุบันผู้คนหันมาสนใจในเรื่อง Healthcare กันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เข้ามาช่วงชิงตลาดนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในเรื่องการเจ็บป่วยหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อยก่อนไปโรงพยาบาล เพราะมักจะตื่นกลัวกับอาการเจ็บป่วยมากขึ้นหลังจากผ่านสถานการณ์โควิด-19 ถือว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ของการดูแลสุขภาพก่อนจะเข้าสู่ขั้นที่เกิดการเจ็บป่วยจริงๆ ถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพได้ในอนาคตอันไกล้ โดยปี 2575 คาดการณ์ว่าธุรกิจด้านนี้จะสามารถเพิ่มจีดีพีให้ประเทศไทยจากปัจจุบันได้เป็น 3 เท่า

 

“หลังจากเกิดสถานการณ์ โควิด-19 ระบาด ผู้คนเริ่มสังเกตอาการเจ็บปวยของตัวเอง เริ่มที่จะค้นหาข้อมูลเมื่อเกิดความผิดปกติกับร่างกาย แม้กระทั่งการเจ็บไข้ได้ป่วยเพียงเล็กน้อยอย่างการไอหรือการคัดจมูก ฉะนั้น ในอนาคตผู้คนอยากจะได้เครื่องมือหรือการประเมินด้วย AI เพื่อให้แน่ใจว่าป่วยเป็นอะไร ก่อนตัดสินใจหาข้อมูลรักษาเยียวยาตัวเองและไปพบแพทย์ในขั้นต่อไป”

จะเห็นว่าตอนนี้ คนความสนใจเรื่อง Healthy-Eating เป็นวงกว้าง ค่าใช้จ่ายในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง เพราะเมื่อไม่อยากเจ็บป่วยก็มักจะหาอาหารเสริม เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งการบริหารจัดการเรื่องนอนหลับพักผ่อน ตลอดจนการออกกำลังกายมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงเรื่อง Beauty โดยเฉพาะธุรกิจความงาม ถือว่ามีอัตราส่วนการเติบโตที่สูงมากในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการในหลายธุรกิจพยายามจะปรับให้เข้ากับเทรนด์ของผู้บริโภค ทั้งยังมุ่งสู่เมกะเทรนด์และเป็น Creative Healthcare

 

นางสาวนทพร กล่าวว่า จริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้คนป่วยมี 3 สาเหตุ ปัจจัยที่ 1 คือสภาวะแวดล้อม ยกตัวอย่าง PM.2.5 ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากและเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดโรคตามมา เช่น โรคมะเร็งปอด 2. ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนอน 3. คือเรื่องของพันธุกรรม ที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นต่อรุ่น เช่น มะเร็งเต้านม ซึ่งสามารถป้องกันได้ แต่การดูแลรักษาป้องกันการเกิดโรคก็ขึ้นอยู่กับบุคคลด้วย ต้องประเมินความเสี่ยงของแต่ละบุคคลเพื่อให้การดูแลรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง มีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลาย ให้ตรงกับร่างกายของแต่ละคน

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโรค NCDs ที่สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของผู้สูงอายุในประเทศไทย ในปี 2531-2564 อัตราการเติบโตของผู้สูงอายุสูงถึง 19.6% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ทำให้โรค NCDs เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะโรคความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ แม้กระทั่งมะเร็ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และส่วนใหญ่มักจะตรวจพบในช่วงที่ป่วยเป็นโรคอย่างเต็มตัวแล้วและเข้าสู่การรักษา หากมีการเชื่อมโยงสู่เรื่อง Wellness จะรักษาได้ง่าย วินิจฉัยได้เร็วจากอาการผิดปกติก่อนจะป่วย บางครั้งคนสุขภาพดีเหมือนกันอาจมียีนส์เจ็บป่วยต่างกัน

 

“เรื่องของเวลเนสที่ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีอย่าง AI จะสามารถตรวจคัดกรองสุขภาพและทำนายการเจ็บป่วยได้ รวมถึงคัดกรองอาการแพ้อาหาร ซึ่ง เป็นข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล เพื่อให้เรารู้ว่า เราจะตัดสินใจไปไหน ทำอะไร เมื่อไหร่ กับใคร ช่วยให้ การบริหารจัดการเรื่องสุขภาพได้ดีขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพด้วย”