นอนน้อย-หลับยาก หมดไฟในการทำงาน สัญญาณป่วย Burnout syndromes

13 พ.ย. 2567 | 21:30 น.

คนรุ่นใหม่มักป่วย Burnout syndromes มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน ควรสังเกตอาการตัวเอง-ปัญหาสุขภาพแฝง และพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพสม่ำเสมอ หากละเลยอาจนำไปสู่โรคเรื้อรังในอนาคต

พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี ผู้อำนวยการศูนย์ Premier Life Center โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวในงานเปิดตัว “The Selection” แพลตฟอร์มสำหรับคนยุคใหม่ เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ว่า เทรนด์สุขภาพที่น่าจับตามองในปัจจุบันและในปี 2568 จะเน้นไปยังการปรับสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ ผ่านการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในการป้องกันและดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มเจนเนอร์เรชั่นยุคใหม่ ที่เริ่มมองแนวทางหาการรักษาอาการป่วยหรือภาวะความผิดปกติของสุขภาพมากขึ้น

ยกตัวอย่างการนอนไม่หลับ เครียด ไมเกรน ลำไส้แปรปรวน ลดน้ำหนักไม่ลง โรคเหล่านี้ล้วนเป็นความผิดปกติที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะไม่ต้องการใช้ยารักษา สอดรับกับเรื่องของเวชศาสตร์ชะลอวัยและการป้องกัน ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยในกลุ่มที่เข้ามาพบแพทย์คือ การป่วยด้วยภาวะหมดไฟ หรือ Burnout syndromes

สัญญาณ Burnout syndromes

  • ตื่นเช้าไม่สดชื่น
  • เหนื่อยอ่อนเพลีย
  • ง่วงในเวลางาน
  • หิวจุกจิกบ่อย
  • เมื่อเลิกงานรู้สึกสดชื่น
  • กินเยอะในตอนเย็น
  • หลัง 23.00 น.ตาสว่าง นอนไม่หลับ
  • มักนอนหลับหลัง 02.00 น.

ปัญหาสุขภาพแฝงจากภาวะหมดไฟ

  • เกิดกรดไหลย้อนเมื่อกินอาหาร
  • แน่นหน้าอก
  • ขับถ่ายไม่ดี
  • มีผืนคัน
  • เกิดไมเกรนสม่ำเสมอ

โดยอาการป่วย Burnout syndromes หมายถึงสมดุลสุขภาพไม่ดี ทั้งลำไส้และฮอร์โมนจึงไม่ดีไปด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดจากปัจจัยหลักสำคัญคือ "ความเครียด" ที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยกับคนในยุคปัจจุบัน

ฉะนั้น การดูแลสุขภาพไม่ควรเป็นเพียงการรักษาเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย แต่ควรเน้นที่การป้องกันตั้งแต่ต้น ด้วยการหมั่นพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพสม่ำเสมอ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

พญ.กอบกุลยา กล่าวว่า การดูแลสุขภาพไม่ใช่แค่การทำตามเทรนด์ แต่คือการมองไปในระยะยาว โดยเน้นการดูแลสุขภาพแบบ Preventive & Wellness ซึ่งช่วยป้องกันโรคและลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับความเครียดและการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ หากพบสัญญาณเตือนทางสุขภาพ เช่น อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดศีรษะบ่อย หรืออารมณ์แปรปรวน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลจากความเครียดสะสมหรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งการละเลยอาจนำไปสู่โรคเรื้อรังในอนาคต การดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน