นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลโภชนาการในผลิตภัณฑ์อาหาร 2567 สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 302 ตัวอย่าง และเครื่องปรุงรส จำนวน 105 ตัวอย่าง พร้อมเตือนผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลาก จากภัยเงียบโซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส บ่อเกิดของโรค NCDs
ด้วยปัจจุบันอาหารกึ่งสำเร็จรูปได้รับความนิยมเป็นจำนวนมาก เพราะมีให้เลือกหลากหลายรสชาติ และสามารถเตรียมเสร็จพร้อมรับประทานได้ภายใน 3 นาที และอาหารกึ่งสำเร็จรูปเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้น ด้วยปัจจุบันตกอยู่ในภาวะที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมอาหารเพื่อรับประทาน อาหารกึ่งสำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดคือโซเดียม ไม่ว่ารสชาติเดิมจากผลิตภัณฑ์จะอร่อยแค่ไหน บางคนก็หนีไม่พ้นกับการปรุงเพิ่ม
โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสเค็ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสถั่วเหลือง ผงปรุงรส ซึ่งปกติคนเราหากกินโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าที่คิด ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
นายธนพลธ์ กล่าวว่า การสำรวจข้อมูลโภชนาการในผลิตภัณฑ์อาหารในปี พ.ศ. 2567 เป็นการติดตามสถานการณ์โซเดียมในอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรสปี 2567 และติดตามการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์ที่เคยนำมาสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ในปีนี้ยังเน้นย้ำเช่นเดิมคือให้ผู้บริโภคหันมาอ่านฉลากกันแบบจริงจังก่อนที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ
"ทุกวันนี้โรค NCDs เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยสูงมากเนื่องจากการบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ในข้อมูลจากผลสำรวจ ทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์ได้รวบรวมปัญหาหลายๆด้านออกมาเป็นข้อเสนอดังนี้ ข้อเสนอต่อผู้บริโภค 1)เพื่อให้ผู้บริโภคต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เพื่อลดภาวะเลี่ยงเกิดโรค NCDs"
ด้าน นางสาวศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการในกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรสประจำปี 2567 เริ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในเดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2567 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ ซื้อจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในซองผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วย ฉลากอาหาร ฉลากโภชนาการ (แบบเต็มและแบบย่อ) และฉลากโภชนาการแบบ GDA ที่มีข้อมูลแตกต่างกันไปตามผลิตภัณฑ์ จำแนกออกเป็น
กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 302 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณโซเดียมดังนี้
กลุ่มเครื่องปรุงรส จำนวน 105 ตัวอย่าง จำแนกออกเป็น 4 ประเภท พบว่า มีปริมาณโซเดียม ดังนี้
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์แพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคไต โรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การลดบริโภคเกลือ(โซเดียม) มีผลดีต่อสุขภาพและยังช่วยลดค่ารักษาพยาบาลของประเทศ การรณรงค์ให้ได้ผลดีต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน และต้องใช้มาตราการต่างๆ ร่วมกันทั้งการสร้างความตระหนักรู้ การปรับสูตรอาหาร มาตรการทางกฏหมายและข้อบังคับเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
ในประเทศไทย กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขและทุกภาคส่วนได้ ดำเนินแผนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยปี 2559-2568 และตั้งเป้าหมายลดบริโภคเกลือโซเดียม 30% ในปี 2568 เพื่อคนไทยมีสุขภาพดี ทั้งจัดตั้งการให้บริการอาหารสุขภาพลดเค็มใน 83 โรงพยาบาล และชุมชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งการให้บริการอาหารสุขภาพลดเค็มในมหาวิทยาลัยมหิดลทั้งที่ศาลายาและพญาไท
ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้บริโภค สอนผู้ประกอบการในการปรับสูตรอาหารเป็นเมนูทางเลือก และใช้เครื่องวัดความเค็มที่พัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ในการทดสอบอาหาร นอกจากนี้เครือข่ายลดบริโภคเค็มยังร่วมมือกับเชฟอาจารย์ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยและสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจร้านอาหาร สมาคมภัตตาคารไทยได้มีส่วนร่วมในการจัดอาหารที่ดีต่อสุขภาพในร้านอาหาร
ในส่วนอาหารอุตสาหกรรม พบว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง ขนมกรุบกรอบ ยังมีปริมาณโซเดียมในระดับที่สูงมากโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขควรเข้ามามีบทบาทในการกำหนดเพดานโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย รวมทั้งการควบคุมการตลาดของอาหารที่เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ ในขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ควรจัดเก็บภาษีโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมสูงเกินค่าที่ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่งเสริมผู้ผลิตให้มีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อลดโซเดียม อย่างที่เห็นผลมาแล้วจากการจัดเก็บภาษีความหวานในเครื่องดื่ม
ด้าน Christine Johnson, Resolve to Save Lives กล่าวว่า ข้อมูลด้านสาธารณสุขเป็นข้อมูลสำคัญ เพื่อการกำหนดเป้าหมายการลดปริมาณโซเดียมในอาหารตามข้อแนะนำด้านสุขภาพระดับโลก ในนามของ Resolve to Save Lives องค์กรสาธารณสุขระดับโลกที่มุ่งมั่นในการช่วยชีวิตประชาชนผ่านมาตรการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด แนะนำมาตรการต่างๆ เพื่อลดการบริโภคโซเดียมจากอาหารสำเร็จรูป รวมถึงนโยบายระดับชาติที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารที่มีโซเดียมต่ำและดีต่อสุขภาพ นโยบายและมาตรการที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลประกอบด้วย
การกำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูปเป็นหนึ่งใน “Best Buy” ขององค์การอนามัยโลก เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่าสำหรับรัฐบาลในการดำเนินการ ข้อเสนอของเครือข่ายลดบริโภคเค็มในการลดปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารพร้อมรับประทาน ซอส และเครื่องปรุงรส สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับโลกและเป็นมาตรการที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลในประเทศอื่นๆ เช่น
ที่สำนักอนามัยของนครนิวยอร์ก ได้กำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูปหลากหลายประเภท ในช่วง 5 ปีแรก ได้ติดตามการปรับสูตรของภาคอุตสาหกรรม พบว่าปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูปนั้นลดลงเกือบ 7% ในประเทศอาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในประเทศที่บุกเบิกการใช้นโยบายบังคับเพื่อลดการบริโภคโซเดียม ปัจจุบันอาร์เจนตินากำหนดเพดานปริมาณโซเดียมที่บังคับใช้ในอาหารหลากหลายประเภท โดยบังคับใช้อย่างเข้มข้นในหลายหมวดหมู่อาหาร
ขณะที่ประเทศไทย ได้ศึกษาล่าสุดโดยองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พบว่าปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์แตกต่างกันอย่างมากระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชีย แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูงนั้นสามารถปรับสูตรให้มีโซเดียมน้อยลงได้ การบังคับใช้มาตรการปรับสูตรเพื่อลดปริมาณโซเดียมและการเก็บภาษีอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นนโยบายที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ การดำเนินนโยบายเหล่านี้จะช่วยรักษาชีวิตคนไทยและลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของภาครัฐไทยได้หลายล้านบาท และยังเป็นการแสดงบทบาทนำของรัฐบาลไทยในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชาวไทยอีกด้วย
นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากข้อมูลของ World Instant Noodles Association ปี 2566 คนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปริมาณ 3,950 ล้านเสิร์ฟ เป็นอันดับ 9 ของโลก ในยุคแห่งการดำรงชีวิตที่เร่งรีบ หลายคนชอบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะอิ่มท้อง ปรุงง่าย และรสชาติอร่อย แต่ก็จัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการ“กินเค็มมากเกินไป” ทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโรคไตวายตามมาได้
จากโครงการสำรวจ “ฉลาดซื้อ” มีคำแนะนำว่า การเลือกซื้ออาหารกึ่งสำเร็จรูปต้องเลือกที่ระบุชื่อของผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตอย่างชัดเจน มีเลขสารบบอาหาร ซึ่งแสดงว่าได้ขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าจาก อย.เรียบร้อยแล้ว ต้องบอกปริมาณเป็นระบบเมตริก เพื่อให้เปรียบเทียบกับสินค้าอย่างเดียวกัน แต่คนละยี่ห้อได้ ซึ่งจะทำให้ได้สินค้าที่สมกับราคา ผู้บริโภคต้องอ่านข้อมูลโภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารก่อนทุกครั้ง และควรระวังเด็กๆ ที่ชอบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยไม่ได้ต้มก่อน เพราะเมื่อบะหมี่ตกถึงกระเพาะจะดูดน้ำจากส่วนอื่นของร่างกายทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ ถ้ากินมากๆ และไม่ดื่มน้ำตามก็อาจจะเกิดอาการวิงเวียนหรือหน้ามืด