สัญญาณร้ายใกล้ตัว “โรคกระดูกสันหลังส่วนคอ” จุดอันตรายถึงชีวิต

31 ธ.ค. 2567 | 22:05 น.

แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เผยสัญญาณเตือน “โรคกระดูกสันหลังส่วนคอ” ภัยร้ายใกล้ตัว หากไม่รักษาให้ตรงจุดอันตรายถึงชีวิต

นพ.ชุมพล คคนานต์ แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังแห่งแรกในประเทศไทย กล่าวว่า อาการปวดคอพบได้ในคนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งทำงานออฟฟิศ เพราะส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องหลายชั่วโมง โดยการนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ เป็นสาเหตุของอาการปวดคอที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์บ่อยมาก อาจปวดแบบเป็นๆหายๆ หรือปวดเรื้อรัง ถ้าอาการปวดมาจากกล้ามเนื้อจะไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรมาก แต่ถ้าปวดรุนแรงมากเพราะหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณกระดูกต้นคอเสื่อม แล้วเคลื่อนไปทับเส้นประสาท หรือ ไขสันหลัง อาการปวดชนิดนี้นับว่าเป็นอันตราย

ทั้งนี้ กระดูกสันหลังของมนุษย์ประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก ได้แก่ 

  1. กระดูกคอ (Cervical spine)
  2. กระดูกช่วงอก (Thoracic spine)
  3. กระดูกช่วงเอว(Lumbar spine)
  4. กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ(Sacrum)
  5. กระดูกก้นกบ (Coccyx) 

จุดที่มักพบปัญหาได้บ่อยที่สุดคือบริเวณคอ ช่วงอก และเอว ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างมาก โดยเฉพาะ กระดูกคอ ที่เป็นชุมทางสำคัญของไขสันหลังและเส้นประสาทที่เชื่อมโยงกับแขนและขา

สำหรับกระดูกสันหลังส่วนคอ เป็นโครงสร้างที่ละเอียดอ่อนและสำคัญ เนื่องจากทำหน้าที่รองรับไขสันหลัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการควบคุมของร่างกาย ไขสันหลังในบริเวณนี้จะส่งสัญญาณประสาทไปยังแขน ขา และอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอดและหัวใจ การกดทับในบริเวณนี้อาจส่งผลรุนแรง เช่น อาการชา อ่อนแรงหรือสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว  ในทางกลับกัน หากปัญหาอยู่ที่กระดูกช่วงเอว ผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเฉพาะที่ขา เช่น อาการปวดร้าวลงขา อาการชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง การประเมินอาการอย่างถูกต้องจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะลักษณะของปัญหาจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่กระดูกสันหลังมีปัญหา

สัญญาณร้ายใกล้ตัว “โรคกระดูกสันหลังส่วนคอ” จุดอันตรายถึงชีวิต

สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรละเลย

1.มีอาการปวดคอร่วมกับอาการชา: โดยเฉพาะอาการที่ชาจากส่วนบนของร่างกาย เช่น แขน หรือร้าวลงถึงปลายนิ้วมือ

2.ปวดหลังร้าวลงขา: หากมีอาการปวดร้าวจากหลังลงไปถึงขา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง การขับถ่ายผิดปกติ

3.ปวดเรื้อรัง: หากปวดนานเกิน 2-3 เดือน และการรักษาเบื้องต้น เช่น การกินยาหรือกายภาพบำบัด ไม่ได้ผล

นพ.ชุมพล กล่าวว่า หลายคนมองหาทางออกด้วยการเข้าร้านนวด กรณีที่อาการปวดมาจากกล้ามเนื้อ เช่น อาการปวดเมื่อยทั่วไป หรือ กล้ามเนื้อตึงตัวจากการใช้งานหนักซึ่งการนวดอย่างถูกวิธีจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและลดอาการปวดได้ แต่การนวดไม่สามารถรักษาอาการที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลังหรือเส้นประสาทได้ เช่น กรณีของหมอนรองกระดูกปลิ้น กระดูกสันหลังเคลื่อน หรือ ไขสันหลังอักเสบ การนวดในกรณีเหล่านี้อาจไม่ได้ช่วยให้อาการดีขึ้น

หากการนวดกระทำโดยผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ อาจนำไปสู่ผลเสียที่ร้ายแรงได้ เช่นในกรณีที่มีหมอนรองกระดูกปลิ้นหรือโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ การนวดแรง ๆ อาจทำให้เกิดแรงกดเพิ่มเติมที่เส้นประสาทหรือไขสันหลัง ส่งผลให้อาการปวดหรือชารุนแรงขึ้น หรือการบิดหรือดัดกระดูกแรงๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน อาจทำให้กระดูกแตกร้าวหรือเกิดการบาดเจ็บรุนแรงได้.  และหากมีการอักเสบอยู่แล้ว เช่น โรคไขสันหลังอักเสบ การนวดในบริเวณนั้นอาจทำให้อาการแย่ลง

“หัวใจหลักของการรักษาโรคกระดูกสันหลังไม่ว่าจะส่วนคอหรือส่วนหลังที่ต้นเหตุมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาผู้ป่วยให้หายขาดและยั่งยืน การรักษาที่เน้นสาเหตุของโรคมากกว่าการรักษาตามอาการ ด้วยนวัตกรรมเฉพาะทางช่วยให้หายจากอาการปวดต่างๆ โดยไม่ต้องพึ่งพายาแก้ปวดอย่างต่อเนื่อง เพื่อการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ การวินิจฉัยที่แม่นยำด้วยเทคโนโลยีMRI และ X-ray โดยเทคนิคเฉพาะ สามารถปรับเป็นท่ายืนได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคกระดูกสันหลัง”

สัญญาณร้ายใกล้ตัว “โรคกระดูกสันหลังส่วนคอ” จุดอันตรายถึงชีวิต

ในกรณีที่มีอาการผิดปกติทางกระดูกสันหลัง เช่น ปวดคอ ปวดหลังร้าวลงขา หรือปวดโดยไม่ทราบสาเหตุ การตรวจด้วยเครื่อง MRI จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ แต่ต้องอ่านผลควบคู่กันกับการ X-ray เพราะจะทำให้เห็นโครงสร้างกระดูกสันหลังได้ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีเครื่อง MRI แบบยืน (Standing MRI) เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่สามารถเข้าไปยืนหรือนั่งตรวจได้เพื่อให้มีแรงกดลงในแนวดิ่งเสมือนการยืนแล้วทำให้มีอาการปวดหลังโดยแพทย์สามารถเห็นภาพการตรวจที่ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงของผู้ป่วยได้มากขึ้น อีกทั้งผู้ที่มีภาวะกลัวที่แคบก็สามารถตรวจได้เช่นกัน