เมื่อหลายวันก่อน ได้มีผู้ประกอบการจากประเทศเมียนมาเข้ามาขอพบผม ซึ่งผู้ที่ติดต่อมาเป็นสุภาพสตรีที่มีชื่อเสียงของวงการค้าคนหนึ่ง ท่านมาพร้อมกับสามีของท่าน ผู้เป็นสามี “เดินเอียงกระเท่เร่และหลังงอๆ” เข้ามาเลย ตอนแรกผมก็พยายามมองไปที่หัวเข่าของท่าน แต่ก็ไม่เห็นหัวเข่างอแต่อย่างไร จึงเสียมารยาทถามท่านไปตรงๆเลยว่า ท่านเป็นโรคอะไร? ท่านจึงตอบว่า เป็นโรคกระดูกสันหลังพรุน ซึ่งคนอายุระหว่าง 50-65 ปีในประเทศเมียนมาเป็นกันเยอะมาก ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะโรคระบาดในยุคนั้น ทำให้เด็กๆที่มีอายุน้อยๆได้รับผลกระทบจากโรคระบาดกันเยอะ ผมได้สอบถามต่อไปว่า แล้วท่านได้มีอาการเจ็บปวดบ้างหรือเปล่า? ก็ได้รับคำตอบว่า ถ้าปกติจะไม่มีอาการเจ็บปวด นอกเสียจากช่วงที่มีอาการอื่นแทรกซ้อน ก็จะเจ็บปวดเป็นธรรมดา วันนี้เลยไปสืบค้นมาให้พวกเราอ่านเล่นๆเป็นความรู้นะครับ
ในยุคปัจจุบันที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โรคกระดูกสันหลังพรุนหรือโรคกระดูกพรุน ได้กลายเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอย่างมาก โรคกระดูกพรุนคือภาวะที่มวลกระดูกลดลง และความแข็งแรงของกระดูกเสื่อมสภาพลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ ส่วนสาเหตุของโรคกระดูกสันหลังพรุนมีอยู่หลายประการ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางร่างกายและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้เป็นโรคดังกล่าว เช่น สาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ อันนี้ก็คงต้องแล้วแต่บุญนำกรรมแต่งแล้วละครับ สาเหตุที่สองก็มาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะในผู้หญิง ที่ช่วงวัยหมดประจำเดือน หรือในช่วงของการเข้าสู่วัยทอง ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเร่งให้การสูญเสียมวลกระดูก เนื่องจากเอสโตรเจนมีหน้าที่ช่วยปกป้องการสูญเสียมวลกระดูก
อีกสาเหตุหนึ่งคือการขาดสารอาหารที่จำเป็น เช่น แคลเซียมและวิตามินดีที่เป็นสารอาหารสำคัญ ที่มีบทบาทในการสร้างและรักษาความแข็งแรงของกระดูก การขาดสารอาหารเหล่านี้จะทำให้กระดูกเสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้นการทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ จึงจำเป็นสำหรับผู้สูงวัยเป็นอย่างยิ่ง ผมเห็นเพื่อนหลายท่านที่ใกล้ชิด ชอบทานอาหารเจเป็นประจำ เพราะเกิดจากความเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการต้านทานโรคบางประเภท ผมก็มักจะบอกว่า ถ้าเป็นไปได้ก็เอาแต่พอควรก็น่าจะดีนะครับ ถ้าร่างกายพอรับไหวก็ทานไปเถอะครับ แต่ถ้าช่วงไหนที่รู้สึกว่าขาดสารอาหารที่เป็นประเภทโปรตีน ก็เพลาๆลงบ้างก็จะดีนะครับ
อีกสาเหตุหนึ่งวิถีชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่จัดมากๆ และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน อีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้สูงวัยบางท่านอาจจะไม่ทันคิด ก็คือการที่เรามีโรคประจำตัวและจำเป็นต้องมีการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น โรคไทรอยด์ และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการสูญเสียมวลกระดูกได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นยารักษาโรคก็เป็นดาบสองคม แต่ถ้าจะใช้ให้ถูกต้อง เราก็ควรต้องเชื่อฟังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามาทานเองโดยไม่ได้รับการชี้แนะอย่างถูกต้องนะครับ
อาการของโรคกระดูกสันหลังพรุน โดยปกติแล้วมักไม่มีอาการในระยะแรกของอาการ จนกระทั่งเกิดกระดูกหักขึ้นมาจึงจะรู้ตัว อย่างไรก็ตามอาการที่อาจเกิดขึ้นที่พอจะเป็นตัวชี้วัดก็พอจะมีบ้าง อันได้แก่ เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการยุบตัวของกระดูกสันหลัง หรือการหดสั้นของร่างกาย ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าความสูงลดลงเนื่องจากกระดูกสันหลังยุบ ซึ่งอาการเช่นนี้ ผู้สูงวัยทุกคนก็จะมีอาการเช่นนี้อยู่เป็นประจำเสมอ เพียงแต่เราต้องอย่าปล่อยให้ความสูงของเราลดลงมากจนผิดสังเกต บางท่านพอพูดเรื่องนี้ ก็อาจจะพอนึกออกว่า ทำไมทุกครั้งที่เราไปโรงพยาบาล นางพยาบาลมักจะมีการวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนักเราเสมอ เราเองก็ต้องมั่นสังเกตตัวเราเองด้วยว่า ส่วนสูงของเราลดลงมากผิดปกติหรือเปล่า? ถ้าผิดปกติก็ควรให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยด้วยก็จะดีนะครับ ยังมีอีกอาการหนึ่งที่เราต้องสังเกตตัวเองว่า เรามีอาการเกิดกระดูกหักง่ายเกินไปหรือเปล่า? แม้จะเกิดจากการกระแทกเบา ๆ หรืออุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงก็จะมีอาการกระดูกหักเสียแล้ว นั่นอาจจะมีอาการเป็นโรคกระดูกสันหลังพรุนได้เช่นกันครับ
ในยุคการแพทย์ที่มีความก้าวหน้ามากแล้ว แพทย์จะมีการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนทำได้โดยการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในการประเมินความหนาแน่นของกระดูก โดยใช้เครื่องมือเฉพาะทาง เช่น Dual-energy X-ray Absorptiometry (DEXA) scan ซึ่งสามารถตรวจพบการสูญเสียมวลกระดูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ การตรวจเลือดและปัสสาวะอาจช่วยในการประเมินการเผาผลาญกระดูก
การป้องกันโรคกระดูกพรุน เราสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรักษาด้วยยา ซึ่งผมคิดว่าการรักษาด้วยยา คงเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ส่วนตัวเราเองก็สามารถทำได้ โดยการใช้หลักทางโภชนาการที่เหมาะสม เช่นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง ยกตัวอย่างเช่น ดื่มนมและทานโยเกิร์ตเป็นประจำ เลือกทานเนื้อปลาและผักใบเขียว นอกจากนี้ การเสริมด้วยอาหารเสริมแคลเซียมและวิตามินดี ก็อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่สามารถได้รับสารอาหารเพียงพอจากอาหารได้ แต่ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มหน่อยนั่นแหละครับ
นอกจากนี้การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ หรือการยกน้ำหนัก ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อได้ด้วยเช่นกันครับ และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ไม่ยากสำหรับใครบางคน แต่อาจจะยากสำหรับคนที่มีพฤติกรรมที่เสพและสูบจนเป็นปกติไปแล้ว นั่นคือการเลิกสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการลดหรือเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ จะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียมวลกระดูก แต่ก็นั่นแหละครับ ผู้สูงวัยบางท่านก็พูดเป็นเสียงแข็งเสมอว่า ผมสูบบุหรี่มาหกสิบ-เจ็ดสิบปีแล้ว ให้ผมสูบต่อไปเถอะ ก็คงยากที่จะโน้มน้าวท่านได้ครับ