ขณะที่ความท้าทายของการส่งออกไทยปี 2565 ที่ภาคเอกชนและนักวิชาการคาดการณ์ในเบื้องต้นจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัว โดยจะขยายตัวได้ระหว่าง 4-5% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่มาก(กราฟิกประกอบ) ถือเป็นความท้าทายของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แม่งานหลักในการผลักดันการส่งออกของประเทศที่ต้องฝ่าฟัน
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมได้รับการจัดสรรงบปี 2565 วงเงิน1,842 ล้านบาท ซึ่งในปีหน้ามีกิจกรรมที่จะผลักดันการส่งออก 159 กิจกรรม เป็นกิจกรรมในประเทศ 74 กิจกรรม แบ่งเป็นรายตลาด เช่น ยุโรปและ CIS 16 กิจกรรม, จีน 13 กิจกรรม, อาเซียน 10 กิจกรรม, อเมริกาเหนือ 7 กิจกรรม, เอเชียตะวันออก 7 กิจกรรม, ตะวันออกกลาง 6 กิจกรรม, เอเชียใต้ 5 กิจกรรม, ลาตินอเมริกา 1 กิจกรรม, แอฟริกา 1 กิจกรรม, ภูมิภาคอื่น ๆ 19 กิจกรรม และแบ่งเป็นกลุ่มสินค้า-บริการ เป็นกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจบริการจำนวน 15 กิจกรรม และกิจกรรมส่งเสริมสินค้าจำนวน 144 กิจกรรม
แผนดันสินค้า-บริการเป้าหมาย
ทั้งนี้มีสินค้าและบริการเป้าหมาย เช่น ธุรกิจบริการ อาทิ ดิจิทัลคอนเทนต์ โลจิสติกส์ บริการสุขภาพและสินค้าเกี่ยวเนื่อง บริการสนับสนุนและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง แฟรนไชส์ นักออกแบบ การศึกษา อุตสาหกรรมบริการออกแบบ ธุรกิจ HORECA) กลุ่มสินค้า เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารฮาลาล อาหารแห่งอนาคต และออร์แกนิก สินค้า niche market ได้แก่ สินค้าสำหรับผู้สูงอายุ ของตกแต่งบ้าน สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง สินค้าสำหรับแม่และเด็ก สินค้า OTOP สินค้าแฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าและบริการด้านนวัตกรรมและการออกแบบ สินค้า BCG
“ส่วนเป้าหมายการส่งออกในปี 2565 นั้น กรมได้ให้ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศทำรายงานและคาดการณ์การขยายตัวของแต่ละตลาดมาเพื่อที่กรมจะประเมินและหารือร่วมกับภาคเอกชน และสำนักงานนโยบายและยุทธ ศาสตร์การค้า (สนค.) ในการสรุปตัวเลขส่งออกปีหน้า ซึ่งก็น่าจะสูงกว่าเป้าปีนี้ที่กระทรวงตั้งไว้ที่ 4% ส่วนการส่งออกทั้งปี 2564 นั้น มั่นใจว่าจะขยายตัวมากกว่า 4% แต่จะเท่าไหร่นั้นคงให้รัฐมนตรีเป็นคนแถลง”
ลุยหนักดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง
นอกจากนี้ในปีหน้ากรมฯจะปรับแนวทางการส่งออกเป็นรูปแบบ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง มากขึ้น เนื่องจากปัจจัยเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งเสริมการส่งออก กิจกรรม โปรโมชั่น มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เพื่อให้สามารถส่งเสริมกิจกรรมส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย
ขณะที่ในปลายปีนี้กรมฯจะมีการประชุมร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก เพื่อหารือถึงทิศทางการค้า การส่งออก รวมไปถึงปัญหาอุปสรรค ที่จะเตรียมแผนรองรับการส่งเสริมการส่งออกในปี 2565 พร้อมกับวางเป้าหมายการส่งออกของไทยและรายประเทศในปีหน้า ทั้งนี้หลังการประชุมร่วมภายในเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ เพื่อรับมอบนโยบายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการวางเป้าหมายการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม 2565
ปัจจัยเสี่ยงส่งออกยังอื้อ
ปัญหาและอุปสรรคการส่งออกในปี 2565 กรมยังมองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยลบที่สำคัญที่จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เพราะหากประเทศคู่ค้าโควิดกลับมาระบาดก็จะกระทบกับเศรษฐกิจและการนำเข้า รวมถึงสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ กระทบกับไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ปัญหาด้าน supply chain disruption ค่าระวางเรือสูง มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นกระทบต้นทุนและมาตรการคิวอี ทำตลาดเงินผันผวน
ส่วนปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทย ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้คาดว่าในปีหน้าค่าเงินบาท มีแนวโน้มที่อ่อนค่าลงยังส่งผลดีต่อความสามารถในการส่งออกของไทย ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์คาดจะเริ่มคลี่คลายประมาณกลางปีหน้า