นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันพรุ่งนี้ ในวันที่ 4 มีนาคม 2565 จะส่งหนังสือถึง คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ข้อควรระวังในการปรับเปลี่ยนนโยบายที่ส่งผลกระทบในระยะยาว ซึ่งทางสมาคมเห็นว่า จากกระแสข่าว ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำราคาอาหารพุ่งทั่วโลก ส่งสัญญาณทำให้ประเทศไทยมีโอกาสขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ จนทำให้โรงงานหลายแห่งหยุดการผลิต มองว่าเป็นการให้ข่าวสร้างกระแสโอกาสขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศอย่างเป็นระบบนั้น
สมาคมการค้าพืชไร่ ขอเสนอสรุปเป็น 3 ประเด็น ซึ่งประเด็นที่ 1 การนำเสนอข่าวดังกล่าวอาจส่งผลต่อการกดดันภาครัฐให้กำหนดนโยบายเป็นไปตามการเรียกร้องที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรการ 3:1 (ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลีอาหารสัตว์ 1 ส่วน) รวมไปถึงการขอลด ภาษีจากการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน และยังขอให้มีการนำเข้าวัตถุดิบจากเพื่อนบ้านได้ตลอดเวลา
"จนลืมไปว่าเมื่อถึงเวลาที่เกษตรไทยเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบที่ผลิตภายในประเทศ รวมถึงส่งผลกระทบต่อนโยบาย ของภาครัฐที่จะต้องมาสนับสนุนเกษตรกรอีก ซึ่งเป็นงบประมาณที่มากมาย จึงควรพิจารณา มาตรการของรัฐบาลเพื่อเป็นการปกป้องเกษตรกรไทยผู้ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์"
เมื่อดูจากสถิติฤดูกาล 2563/64 ที่ผ่านมาปริมาณการนำเข้าธัญพืชทดแทน ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี กากข้าวโพด DDGS รวมกับการนำเข้าข้าวโพดฯพม่า รวมกันแล้วอยู่ที่ 9.93 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์อยู่ที่ประมาณ 8.4 ล้านตัน จะเห็นได้ว่าขณะที่มีมาตรการดังกล่าวแล้วก็ยังทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน 1.53 ล้านตัน (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1) มากกว่าฤดูกาล 2562/63 ก่อนหน้า ก็ยังมีอุปทานส่วนเกินถึง .95 ล้านตัน (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2) ยังไม่รวมมันสำปะหลัง ปลายข้าวไทย และข้าวโพดบดและข้าวสารบดจากประเทศพม่า
ประเด็นที่ 2 จากกระแสข่าวข้างต้นทำให้ดูเหมือนว่าวัตถุดิบหมวดคาร์โบไฮเดรตในประเทศ ไม่เพียงพอ อาจจะขาดแคลนได้ ทั้งที่ความจริงแล้วก่อนหน้านี้มี การกล่าวอ้างว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยไม่เพียงพอใช้จึงจำเป็นต้องนำเข้าธัญพืชอาหารสัตว์ทดแทนเช่นข้าวสาลีอาหารสัตว์เข้ามาใช้ทดแทนซึ่งเป็นหมวดคาร์โบไฮเดรตเช่นเดียวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แสดงให้เห็นว่าการกล่าวอ้างต้องการชี้ให้เห็นว่าข้าวโพดฯไม่พอใช้จึงต้องนำเข้าข้าวสาลีอาหารสัตว์
หรือธัญพืชอาหารสัตว์อื่นมาทดแทน เป็นการเบี่ยงแบนความจริงเนื่องจากถ้ารวมปลายข้าวและมันสำปะหลังแล้วประเทศไทยมีการปลูก ธัญพืช อาหารสัตว์หมวดคาร์โบไฮเดรตอย่าเพียงพอ เพราะประเทศไทยยังมีมันสำปะหลังที่ผลิตได้ถึง ปีละกว่า 29 ล้านตัน
อีกทั้งยังมีปลายข้าวซึ่งปัจจุบันราคาเพียงกิโลกรัมละ10.20-11.60 บาท และข้าวฟ่าง ประกอบกับช่วงเวลาธัญพืชอาหารสัตว์ในตลาดโลกสูงอาหารสัตว์ไทยสามารถเปลี่ยนสูตรใช้ ข้าวกล้องไทยที่ราคาถูกกว่าทั้งคุณค่าทางโภชนการดีกว่าข้าวสาลีอาหารสัตว์ได้อีกด้วย อนาคต กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย น่าจะไม่จำเป็นต้องนำเข้าธัญพืชอาหารสัตว์ทดแทนจากต่างประเทศดังที่มีการนำเข้ามาก่อนหน้าอีกเลยก็เป็นไปได้ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายรัฐบาลที่จะปกป้องเกษตรกรไทยและช่วยเหลืออย่างไร
ประเด็นที่ 3 เป็นโอกาสในการแก้ปัญหาข้าวสารไทยล้นระบบ ยิ่งเกิดวิกฤติธัญพืชอาหารสัตว์ในตลาดโลกสูงขึ้นจากสาเหตุผลผลิตจากประเทศอาเจนตินาและบราซิลประสบภัยแล้ง ตามด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาข้าวสาลีอาหารสัตว์ในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมากถ้าเทียบราคาปัจจุบัน ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565 ราคาข้าวสาลีตลาดล่วงหน้าชิคาโก้ สหรัฐอเมริกาสัญญาสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 ขึ้นสูงถึง 10.016 เหรียญต่อบุชเชล คิดเป็น 12.01 บาท/กิโลกรัม
ถ้าบวกค่าขนส่งและค่าดำเนินการต่าง ๆ ทำให้ราคาข้าวสาลีอาหารสัตว์ส่งถึงประเทศไทยสูงกว่ากิโลกรัมละ 13.50 บาท ขณะที่ในปัจจุบันราคาข้าวสารไทยส่งถึงท่าเรือผู้ส่งออกราคาเพียงกิโลกรัมละ 12.00-12.20 บาท (สิ่งที่ส่งมาด้วย 3) หากเป็นข้าวกล้องไทยที่มีคุณค่าทางโภชนการไม่แพ้ข้าวสาลี ราคาถูกลงมาประมาณกิโลกรัมละ 0.50- 1.00 บาท/กิโลกรัม การใช้ข้าวกล้องไทยมาผลิตอาหารสัตว์ยังช่วยดูดซับปริมาณข้าวสารไทยที่ล้นตลาดมาทุกปีอีกด้วยทั้งยังทำให้ทำให้ ครัวไทยครัวโลกเป็นจริงมากยิ่งขึ้นจากการใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทย
จากเหตุผลทั้งสามประเด็นข้างต้นสมาคมการค้าพืชไร่เห็นควรร้องขอให้รัฐบาลคงมาตรการ 3:1 และนำมาตรการอากรนำเข้ากลับมาใช้เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบไทย และสนับสนุนให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหันมาใช้ข้าวไทยมาเป็นวัตถุดิบร่วมกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยมากขึ้น
สมาคมโรงสีข้าวไทย รายงาน ผ่านเฟซบุ๊ก Thai Rice Mill Association ราคาข้าวประจำวัน พฤหัสบดี ที่ 3 มีนาคม 2565