การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ จัดกิจกรรม“รวมพลคนปีขาล 2565” โดย ในปี 2565 จังหวัดแพร่ และ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง พร้อมด้วยภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมจัด กิจกรรม “รวมพลคนปีขาล 2565” เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดแพร่ สร้างบรรยากาศภาพลักษณ์ เมืองท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
โดยชูความเชื่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อ “องค์พระธาตุช่อแฮ” พระธาตุประจำ ปีนักษัตร “ปีขาล” เชื่อมโยงสู่เรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้ง 12 เดือน เพื่อเชิญชวนผู้ที่เกิดนักษัตร “ปีขาล” และ “ปีชง” รวมถึงผู้ที่เลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนา มาท่องเที่ยวเสริมบุญบารมี สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง และใช้โอกาสนี้ เดินทางท่องเที่ยวต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดแพร่ ทำให้เกิดการพักค้าง เกิดการใช้จ่าย เกิดรายได้กระจายสู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดแพร่ตลอดทั้งปีเสือทอง
พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เจริญพรว่า วัดพระธาตุ ช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่ เป็นวัดประจำปีเกิดสำหรับคนที่เกิด “ปีขาล” หรือ “ปีเสือ”ภายในพระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระศอกด้านซ้าย และพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในโอกาสเวียนครบรอบนักษัตรปีขาล ในปี พ.ศ.2565 นับเป็นโอกาสมงคลยิ่ง เพราะ “12 ปี มีเพียง 1 ครั้ง” ตามตำนานความเชื่อเรื่อง 12 นักษัตร ทั้งนี้ ทางวัดพระธาตุช่อแฮฯ ได้จัดกิจกรรมรวมพลคนปีขาลที่วัดตลอดทั้งปี ทั้งรูปแบบ On site และ On line
โดยความพิเศษปีนี้ ในห้วงเดือนมีนาคม ระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม 2565 วัดพระธาตุช่อแฮฯ กำหนดจัด “งานประเพณี ไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ประจำปี2565 ” ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ พิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภช องค์พระธาตุช่อแฮ พิธีถวายผ้าห่มองค์พระธาตุช่อแฮพระราชทาน
พิธีอัญเชิญตุงถวายบูชาพระธาตุช่อแฮเป็นพุทธบูชา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระราชชนนีพันปี ทรงเจริญชนมายุครบ 90 พรรษา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระราชินีฯ พิธีสืบชะตาสะเดาะเคราะห์วันเสาร์ปฏิบัติธรรมอายุยืนยาววันอาทิตย์ พิธีทำบุญ ตักบาตร การปฏิบัติธรรม การแข่งขันตีกลองปูจาพญาขาล การจำหน่ายสินค้าชุมชนโอทอป และไฮไลท์เชิญรับชมขบวนเครื่องสักการะ
ขบวนแห่เครื่องสักการะเพื่อบูชาองค์พระธาตุอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาจาก ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดแพร่ ขบวนช้างเจ้าหลวงเมืองแพร่ และขบวนแห่ตุงหลวง
ด้านนายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2565 จังหวัดแพร่ ได้ส่งเสริมให้เป็น ปีท่องเที่ยวปีขาล ภายใต้การใช้ชื่อกิจกรรม “รวมพลคนปีขาล 2565 ” (Year of The Tiger 2022) หัวใจหลักของกิจกรรม คือ “องค์พระธาตุช่อแฮ” เป็นพระธาตุประจำปีเกิดสำหรับผู้ที่เกิดปีขาล โดยใช้รูป “เสือ” เป็นสื่อสัญลักษณ์การจัดงาน และ“ตุงไชย” เป็นส่วนเสริมที่เชื่อมโยงระหว่างชุมชน วัด และนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมการกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เริ่มตั้งแต่ การ “เตรียมเมือง” อาทิ การออกแบบตราสัญลักษณ์ (โลโก้) กิจกรรมรวมพลคนปีขาล 2565 เพื่อสร้างภาพลักษณ์แบรนด์จังหวัด ใช้สื่อสารประชาสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน ต่อเนื่องด้วยการขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนดูแลเรื่องความสะอาดบ้านเรือน ถนนหนทาง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้าสู่การ “แต่งเมือง” มีการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประดับตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ “ตุงไชย” ตามสถานที่ราชการ บริษัท ห้างร้าน บ้านพักอาศัย ตลอดจนริมถนนสายสำคัญของจังหวัดแพร่
ตุงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสักการะบูชาพระธาตุช่อแฮฯ เตรียมพร้อมสู่การ “เปิดเมือง” สร้างการรับรู้วงกว้างด้วยการ Kick Off งานแถลงข่าวกิจกรรมรวมพลคนปีขาล จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ณ วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง ที่ผ่านมา รวมถึงการขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมภายใต้แผนดำเนินการหน่วยงานนั้นๆ ให้สอดรับกับธีมปีขาล เพื่อสร้างสีสันความน่าสนใจต่อเนื่องตลอด ทั้งปีจูงใจให้นักท่องเที่ยวเลือกจุดหมายปลายทางของการเดินทางมาที่จังหวัดแพร่มากขึ้น เชื่อมโยงสู่เรื่องราวและกิจกรรมกระตุ้นการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่
นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานแพร่ กล่าวว่า บทบาทของ ททท.สำนักงานแพร่ นอกจากการจัดทำประชาสัมพันธ์ด้วยรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับของนักท่องเที่ยวแล้ว ททท.ยัง “ชูแนวคิดเรื่องเสน่ห์การท่องเที่ยวย้อนวันวานเพื่อนำเสนอประสบการณ์ รูปแบบใหม่” ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักจังหวัดแพร่ในอีกมิติหนึ่ง สอดแทรกกิจกรรมท่องเที่ยวสร้างสรรค์ “ถวายตุงไชย” ที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง และทุกวัดทั่วทั้งจังหวัดแพร่ นักท่องเที่ยวจะได้เห็นเมืองแพร่เป็นเมืองแห่งตุง ได้เห็นบรรยากาศเสน่ห์วันวานเมืองเหนือดั้งเดิมที่มีความเนิบช้าและน่าหลงไหล
สิ่งสำคัญนอกเหนือจากบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่ได้จากการถวายตุงแล้ว คือความปลื้มปริ่มอิ่มเอมใจ ที่ได้เห็นผลงานตุงแต่ละตัวจากฝีมือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน บรรจงถัก ทอ ตัด ตกแต่งลวดลายมงคลอย่างวิจิตรงดงาม ประดับประดาอวดสู่สายตาแขกบ้านแขกเมืองทั่วทุกวัดและแหล่งท่องเที่ยวทุกที่ในจังหวัดแพร่
นอกจากนี้ ททท.ยังได้จัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว สอดรับกิจกรรมปีขาลของจังหวัด ด้วยแคมเปญ #เสือนอนกิน ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2565 โดยร่วมกับสถานประกอบการท่องเที่ยว จำนวน55แห่ง ที่ผ่านมาตรฐาน SHA และ SHA PLUS มอบคูปองส่วนลดมูลค่า 200 บาท/คน สำหรับผู้ที่เกิดในนักษัตร “ปีขาล” และ “ปีชง” (ปีวอก ปีมะเส็ง ปีกุน) ที่ซื้อห้องพักตามเงื่อนไขกิจกรรมฯ และที่พลาดไม่ได้
ททท.ขอแนะนำ กิจกรรมผ่อบ้านแอ่วเวียงยามค่ำ (Phrae sightseeing Night Tour) ได้รับรางวัลดีเด่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประเภทแหล่งท่องเที่ยว สาขาแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการและความบันเทิง (รางวัลกินรี ปี 2564) เป็นกิจกรรมสันทนาการรูปแบบใหม่ ด้วยรูปแบบการนั่งรถรางผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ กว่า 10 จุด ชมความงดงามเมืองแพร่ยามค่ำคืน สัมผัสวิถีวัฒนธรรมอัตลักษณ์ตัวตนของเมืองแพร่ เพลิดเพลินคีตศิลป์ท้องถิ่น ฟังซอ ฟ้อนรำ กิจกรรมต่างๆ นำสู่คุณค่าแห่งมรดกวัฒนธรรมต่างๆ รับฟังบรรยายเรื่องราวเมืองเก่าแพร่ อย่างลึกซึ้งเพลิดเพลิน ถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์เมืองแพร่ทุกมิติอย่างร่วมสมัยระหว่างเส้นทางนั่งรถราง
ตื่นตาตื่นใจเข้าร่วมกิจกรรม “แห่ครัวตาน” “ลอดซุ้มประตูอธิษฐานขอพร” ที่ วิหารวัดมิ่งเมือง สร้างสีสันและประทับใจไม่รู้ลืม สอบถามข้อมูลการจัดกิจกรรมรวมพลคนปีขาล ได้ที่ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง โทรศัพท์ 082 8937334 รวมถึงข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ ได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่ (พื้นที่รับผิดชอบ แพร่,อุตรดิตถ์) โทรศัพท์ 054 521127 และ Facebook Page : ททท.สำนักงานแพร่
สำหรับประวัติ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวงนั้น วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่ คู่บ้าน คู่เมืองจังหวัดแพร่และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่175 ไร่ ระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกวัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลซ่อแฮ อำเภอเมืองจังหวัดแพร่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้มวลสารจากพระธาตุช่อแฮ ทำพระสมเด็จจิตรลดา สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ระหว่างจุลศักราช 586-588(พ.ศ.1879 - 1881) ในสมัยพระมหาธรรมราชา(สิไท ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้
จากนั้นได้จัดงานสักการะ 7 วัน 7คืน จึงได้ชื่อว่า "พระธาตุช่อแฮ" (คำว่า "แฮ" เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "แพร" แปลว่า ผ้าแพร) และในปีพ.ศ.๒๔๖๗ ครูบาศรีวิชัย ได้มาเป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง ได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์พระธาตุช่อแอเป็นโบราณสถาน
พระธาตุช่อแฮ องค์พระธาตุช่อแฮ เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ บรรจุพระบรมเกศาธาตุและเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองแพร่มีอายุมากกว่าพันปี เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ในทุกๆ ปี เมื่อเริ่มวันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 ใต้ เดือน 6 เหนือพุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศ จะเดินทางมานมัสการพระธาตุช่อแฮเป็นจำนวนมากด้วยความเชื่อที่ว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พระบรมสารีริกธาตุจะแสดงปาฏิหาริย์ แผ่บารมีที่เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ผู้มา
งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง กำหนดจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในปี2565 จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม2565 ณ วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง อ.เมือง จ.แพร่ เป็นประเพณีเก่าแก่
ที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา จัดขึ้นเพื่อสืบสานอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่ได้ดำเนินมาแต่โบราณ
โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ กิจกรรมการทำบุญตักบาตร การปฏิบัติธรรม การแสดงวิถีซุมชนวิถีวัฒนธรรม การแข่งขันตีกลองปู่จา การจำหน่ายสินค้าโอทอป และขบวนแห่เครื่องสักการะเพื่อบูชาองค์พระธาตุอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา ขบวนช้างเจ้าหลวงเมืองแพร่ ชบวนแห่ตุงหลวง และขบวนเครื่องสักการะจากทั้ง 8 อำเภอ ในจังหวัดแพร่