กรมป่าไม้-CPF ส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดห้องเรียนธรรมชาติ "เขาพระยาเดินธง"

05 ก.ค. 2565 | 10:44 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 18:01 น.

กรมป่าไม้-ซีพีเอฟ เปิดห้องเรียนธรรมชาติ "โครงการเขาพระยาเดินธง" จ.ลพบุรี สร้างโอกาสการเรียนรู้จากพื้นที่จริง กับการฟื้นฟูป่า ให้น้องๆ "รร.นานาชาติคอนคอร์เดียน"

นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการเขาพระยาเดินธง กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน ซึ่งก่อตั้งโดย คุณวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ พาน้องๆ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่เกรด 9 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 3) และเกรด 11 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 5) พร้อมด้วยอาจารย์และผู้ปกครอง รวมประมาณ 40 คน ร่วมทำกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า พื้นที่โครงการ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสักเขาพระยาเดินธง" ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 

กรมป่าไม้-CPF ส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดห้องเรียนธรรมชาติ \"เขาพระยาเดินธง\"
นายสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักคุณค่าทางสังคมและความหลากหลายทางชีวภาพ และคณะทำงานยุทธศาสตร์ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ซีพีเอฟ เล่าถึงความสำเร็จของการฟื้นฟูป่าที่นี่ ที่เกิดจากความร่วมมืออย่างจริงจังในลักษณะ 3 ประสาน โดยกรมป่าไม้ ภาคเอกชน คือ ซีพีเอฟ และชุมชนรอบพื้นที่่เขาพระยาเดินธง ร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูพลิกฟื้นจากผืนป่าเสื่อมโทรม จนปัจจุบันผืนป่าที่นี่กลับมาเป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ ด้วยนวัตกรรมการปลูกป่า 4 รูปแบบ รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของสัตว์ ทำให้สัตว์ต่างๆ เริ่มเข้ามาอาศัยและหากิน นอกจากนี้โครงการฯ ยังเป็นต้นแบบการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย

กิจกรรมลงพื้นที่สัมผัสห้องเรียนธรรมชาติครั้งนี้ น้องๆ ได้เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนการปลูกต้นไม้แบบปราณีต ซึ่งน้องๆ บอกว่าเป็นความรู้ใหม่ที่พวกเขาได้รับ โดยมีพี่ๆ กรมป่าไม้และพี่ๆ ซีพีเอฟให้คำแนะนำ ตั้งแต่ขนาดของหลุมที่ปลูกต้นไม้ ที่ต้องมีขนาดกว้าง 30 เซ็นติเมตร ยาว 30 เซ็นติเมตร และลึก 30 เซ็นติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยที่คลุกกับดิน นำกล้าไม้วางในหลุม นำดินกลบที่โคนต้น ปักเสาไม้ไผ่ ผูกเชือกกับไม่ไผ่และต้นไม้เพื่อช่วยให้ต้นไม้ทรงตัวอยู่ได้หากโดนแรงลม คลุมฟางที่โคนต้น รดน้ำ ติด Tag หมายเลขต้นไม้ พร้อมทั้งเรียนรู้เรื่องการจดบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นไม้เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเปรียบเทียบอัตราการเติบโตในปีถัดๆ ไป
กรมป่าไม้-CPF ส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดห้องเรียนธรรมชาติ \"เขาพระยาเดินธง\"

ในกิจกรรมนี้ มีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม ทุกกลุ่มต้องลงมือขุดหลุมเอง เพื่อปลูกต้นไม้ทั้งหมด 200 ต้น บนพื้นที่ 1 ไร่ ได้แก่ ต้นตะเคียนทอง ประดู่ป่า ต้นพะยูง และต้นพะยอม ซึ่งต้นไม้เหล่านี้เป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ ซึ่งน้องๆ ร่วมมือกันทำภารกิจแรกสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย และสภาพอากาศก็เป็นใจแม้จะมีแดดส่องลงมา แต่ก็มีลมพัดโชยมาให้คลายร้อนลงได้ ซึ่งน้องๆ ตั้งใจทำกิจกรรม โดยมีพี่ๆกรมป่าไม้และพี่ๆ ซีพีเอฟ คอยเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำในทุกกิจกรรมเป็นความภาคภูมิใจของน้องๆ ที่ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ในครั้งนี้ เนื่องจากต้นไม้ที่นำมาปลูกทั้ง 200 ต้น เป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน ได้รับบริจาคต้นกล้ามาจาก MQDC จำนวนทั้งหมด 4,000 ต้น และน้องๆ ชมรม Seed of Hope หรือเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง ได้ช่วยกันดูแลกล้าไม้ อนุบาลต้นกล้ามาเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้กล้าไม้แข็งแรงพอ ที่จะนำมาปลูกต่อไป ซึ่งล่าสุด ได้นำกล้าไม้ทั้งหมด บริจาคให้โครงการเขาพระยาเดินธง เพื่อนำมาปลูก เพิ่มพื้นที่สีเขียว เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

กรมป่าไม้-CPF ส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดห้องเรียนธรรมชาติ \"เขาพระยาเดินธง\"

จากนั้น น้องๆ ร่วมกิจกรรมยิง Seed Ball ดินเหนียวก้อนกลม มีเมล็ดพันธุ์ไม้อยู่ภายใน ที่มาจากการผสมปุ๋ยหมัก หรือดินดำปลูกต้นไม้ที่ผสมปุ๋ยแล้ว และปั้นเป็นก้อนพอเหมาะ นำไปผึ่งแดดหรือลม ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดตามธรรมชาติในพื้นที่

เสียงสะท้อนจากน้องๆ หลังจากที่ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมปลูกป่า บอกตรงกันว่าประทับใจและเป็นประสบการณ์ใหม่

กรมป่าไม้-CPF ส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดห้องเรียนธรรมชาติ \"เขาพระยาเดินธง\"

โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นความร่วมมือของกรมป่าไม้ ซีพีเอฟ และชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่นี่มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพิ่มเติมรวม 6,971 ไร่ เป็นต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าให้กับพื้นที่ป่าอื่น ๆ ของประเทศไทย และยังเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกป่าให้กับหน่วยงานที่สนใจ ทั้งภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และสถานศึกษา โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานและผู้สนใจที่ขอเข้ามาเยี่ยมชมโครงการฯ อาทิ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บจ.บี.กริม ดร.เกฮาร์ด ลิงค์ บิวดิ้ง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีสาขาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี น้องๆ ค่าย SMART-i CAMP เป็นต้น