“พระมหาสังข์” สัญลักษณ์ที่นำความเป็นสิริมงคล ความอุดมสมบูรณ์ ความสำเร็จมาสู่ผู้ครอบครองตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์มาแต่โบราณ มีการใช้ในพิธีกรรมสำคัญของราชสำนักและคนทั่วไป ส่งผลให้พระมหาสังข์เป็นเครื่องบูชาเสริมสิริมงคลที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ สังข์เวียนขวา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ราคาแพงมูลค่านับล้านบาท เพราะหาเจอได้ยากตามธรรมชาติ
ปัจจุบันว่า กระแสความนิยมพระมหาสังข์ขณะนี้กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นระดับเศรษฐีแนวหน้าของไทย ผู้ที่มีความเชื่อในด้านการเสริมสิริมงคลการทำงานและการใช้ชีวิต
โดยนิยมนำพระมหาสังข์ที่ขัดผิวเงางามแล้วมาแต่งองค์ทรงเครื่อง เพื่อความสวยงาม เป็นการเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ได้ตกแต่งลวดลายพระมหาสังข์ไปกว่า 30 องค์
อาจารย์อาทร เตชะพนาลัย ช่างทองมากฝีมือแห่งจังหวัดนครปฐม ได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2566 ประเภทเครื่องโลหะ (เครื่องทองโบราณ) จากการเฟ้นหาและคัดสรรผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยที่จัดโดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ได้เปิดเผยถึงแนวคิดของการผลิตผลงาน และความนิยมของพระมหาสังข์ที่เกิดขึ้น ขณะที่งานฝีมือในการตกแต่งพระมหาสังข์ ปัจจุบันช่างทองฝีมือคนไทยในวงการมีอยู่เพียง 3 - 4 คน
ส่วนความต้องการในตลาดยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันตนได้ผลิตลวดลายพระมหาสังข์ออกไปเฉลี่ยเดือนละ 2 องค์ และคาดการณ์ว่าหลังจากได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2566 จาก sacit จะเป็นสิ่งสะท้อนว่างานของช่างทองโบราณเป็นที่ยอมรับ ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
“พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ ทรงสุวรรณภูมิ มีความพิเศษเป็นอย่างมากและเป็นงานที่รู้สึกภูมิใจมากเช่นกัน โดยพระมหาสังข์ทรงสุวรรณภูมินี้ เป็นพระมหาสังข์หายาก และคาดว่าจะไม่มีอีกแล้ว เพราะเป็นสังข์ที่สมบูรณ์มากที่สุด ส่วนงานออกแบบเป็นลวดลายโบราณ ตกแต่งองค์สังข์ขึ้นเป็นลายจตุรทิศ มีความหมายในเรื่องการป้องกันภยันตรายต่างๆ และเสริมสิริมงคลรอบทิศทาง ซึ่งมีเศรษฐีเสนอราคามาสูงมากอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท”
สำหรับประสบการณ์ในวงการช่างหัตถศิลป์ไทยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ได้เริ่มทำผลงานเชิงประจักษ์มาตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมายังเป็นคณะจัดสร้างฐานพระโกศสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จนถึงปี 2548 หลังจากนั้นจึงเริ่มรับผลิตชิ้นงานตามความต้องการของลูกค้า และรับบทบาทเป็นครูงานช่างทองโบราณ และงานช่างทองหลวง อยู่ที่กาญจนาภิเษก วิทยาลัยช่างทองหลวง
นอกจากนี้ยังเรียนรู้การทำเครื่องทองครอบคลุมตั้งแต่เครื่องประดับโบราณ งานสกุลช่างเพชรบุรี สุโขทัย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้สร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับตกแต่ง เครื่องพุทธบูชา จำลองเจดีย์ทองคำ ผอบพระบรมสารีริกธาตุ และงานหัตถศิลป์อีกหลายแขนง
“ในทุกครั้งที่มองผลงานหัตถศิลป์ไทย นอกจากผลตอบรับเรื่องการสร้างรายได้ ส่วนลึกที่สุดคือการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่กับประเทศไทยไปอีกนานเท่านาน แม้ชีวิตจะเหลือเวลาผลิตผลงานได้อีก 20-30 ปี แต่ผลงานที่ทำไว้จะยังคงอยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกอย่างน้อย 300 – 1,000 ปี อย่างแน่นอน ตามคำกล่าวว่า อายุเรานั้นสั้น แต่ศิลปะยืนยาว”