ภูฏานเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ใช้ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ Gross National Happiness (GNH) เป็นดัชนีวัดความเจริญของประเทศมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นที่นิยมชมชอบไปทั่วโลก
ภูฎานแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ในเทือกเขาหิมาลัย แต่มีความโดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมอันงดงาม จาก 7 เทศกาลหลักๆ ที่กระจายจัดขึ้นตลอดทั้งปี ทำให้ที่นี่เป็นประเทศในฝันที่หลายคน อยากเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่สักครั้งในชีวิต
เทศกาลแรกของปี ในทุกวันที่ 16 - 18 ก.พ. จัดขึ้น ณ ลานกว้างในบริเวณป้อมปราการ Punakha Dzong ในเมือง Punakha (เมืองหลวงเก่าของภูฏาน) ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกศรีตรังเริ่มเบ่งบาน และเป็นเทศกาลเดียวในประเทศที่จำลองเหตุการณ์การต่อสู้กับกองทัพทิเบตในช่วงศตวรรษที่ 17 ได้อย่างน่าทึ่ง
โดยจะมีทหารอาสาในท้องถิ่นแต่งกายด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์การต่อสู้แบบดั้งเดิมในสมัยนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีกองกำลังติดอาวุธใดๆ มีเพียงกองกำลังพลจากหมู่บ้านใหญ่ 8 แห่งจากเมืองทิมพูและพูนาคาออกมาสู้รบและขับไล่กองกำลังทิเบตที่บุกรุกเข้ามาเพื่อแย่งชิงพระธาตุรังจุง คารสะปะนี
หลังจากนั้นจะมีการสาธิต “โนบุชูชานี” คือการนำพระธาตุไปแช่ในแม่น้ำโมจู เพื่อตบตาผู้รุกรานชาวทิเบต กล่าวกันว่า Zhabdrung Rinpoche ผู้รวมอนาจักรภูฏานในศตวรรษที่ 17 ได้ทิ้งสิ่งที่เสมือนพระธาตุเป็นตัวล่อลงในแม่น้ำ การสาธิตริมแม่น้ำนี้จะมีผู้คนหลายร้อยคนมารวมตัวกันในป้อมปราการ และในวันสุดท้ายของเทศกาล นี้จะมีการลากชามทองแดงขนาดใหญ่ที่ลงจารึกด้วยพระคัมภีร์ไปที่ใจกลางลาน ในชามบรรจุด้วยเหล้าจนเต็มซึ่งจากนั้นจะนำไปอวยพรและแจกจ่ายให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานเทศกาล
เทศกาลนี้จัดขึ้นในทุกวันที่ 19- 21 ก.พ.ของทุกปี จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อ รินโปเช (Guru Rinpoche) ปรมาจารย์พุทธตันตระ (หรือมหายานตันตระ) ในงานจะมีการเต้นรำหน้ากาก หรือ “cham” และการเต้นรำพื้นบ้านของชาวภูฏานแบบดั้งเดิม ผู้คนที่มาร่วมงานจะแต่งกายสวยงาม อีกทั้งยังนำอาหารกลางวันมาปิกนิก นั่งรับประทานและชมเทศกาลไปกับสมาชิกในครอบครัว
ทุกเดือนมี.ค.ระหว่างวันที่ 21- 25 ณ รินปุง ซอง (Rinpung Dzong) เป็นอารามกึ่งปราการอันสวยงามในเมือง Paro เทศกาลนี้มีการเต้นรำสวมหน้ากากและการเต้นรำพื้นบ้านของชาวภูฏานซึ่งแสดงโดยพระภิกษุและชาวบ้าน
ไฮไลท์คือการคลี่ผ้าปักรูปของท่านรินโปเช ขนาดมหึมาในวันสุดท้าย โดยขนาดของผ้าปักนี้จะครอบคลุมทั้งกำแพงซึ่งมีความสูงเท่าตึก 3 ชั้น และจะมีผู้คนจำนวนมากเข้าคิวเพื่อชื่นชมและขอพร
ในเดือนเม.ย.ระหว่างวันที่ 13-14 จะมีเทศกาล “Rhododendron” (กุหลาบพันปี) ณ อุทยานหลวงพฤษศาสตร์ (Royal Botanical Park) เมือง Lamperi ห่างจากทิมพูราว 35 กม. ถือเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ และอวดโฉมกุหลาบพันปีหลากสายพันธุ์ภายในอุทยานที่บานสะพรั่งครอบคลุมพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตร
เทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองพืชพรรณ วัฒนธรรม อาหารอันอุดมสมบูรณ์ของภูฏาน และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันกุหลาบพันปีมีถึง 46 สายพันธุ์ โดยที่นี่มากถึง 29 สายพันธ์ รวมถึง 4 สายพันธุ์ที่ถือกำเนิดที่ภูฏาน ได้แก่ Rhododendron kesangiae, Rhododendron pogonophyllum, Rhododendron Bhutanese และ Rhododendron flinckii และในเทศกาลจะมีเกม
การแสดงวัฒนธรรมและการละเล่นต่างๆ แผงขายสิ่งทอและของที่ระลึก แผงขายอาหารรวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากกุหลาบพันปี ผู้มาเยือนที่รักธรรมชาติสามารถไปอาบน้ำในป่า ตามเส้นทางเดินป่า Lungchutse ใช้เวลาเดินจาก Dochula Pass 2 ชั่วโมง เป็นเส้นทางที่ร่มรื่นสวยงาม และในช่วงเทศกาลจะมีดอกกุหลาบพันปีบานสะพรั่งเต็มที่
เทศกาลนกกระเรียนคอดำ จัดขึ้นในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ในหุบเขา Gangtey เดินทางโดยรถยนต์จากทิมพูไม่ถึง 4 ชั่วโมง เป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาภูฏานของนกกระเรียนคอดำ ที่บินมาจากทิเบต จีน และอรุณาจัลประเทศ (อินเดีย) มาอาศัยอยู่ในหุบเขาแห่งนี้ในช่วงฤดูหนาว ผู้ร่วมงานจะมีโอกาสพิเศษได้ชมนกที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งยังมีการเต้นรำสวมหน้ากาก เช่น Drametse Ngachham (เต้นและตีกลองไปด้วย) Pachham (การเต้นรำของวีรบุรุษ) และ Zhana Ngachham (ระบำหมวกดำ) การแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ โดยนักเรียน
นอกจากนั้นผู้มาร่วมงานยังสามารถสำรวจวัด Gangtey Goenpa เดินตามแนวป่าไปยังหุบเขาตอนล่าง และเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างลึกซึ้ง
เทศกาลนี้เริ่มในวันที่ 13 - 15 พ.ย.ที่ Tingtibi ในเขต Zhemgang ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองหลวงแห่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของภูฏาน ใช้เวลาขับรถ 6 ชั่วโมงจากทิมพู ที่นี่เป็นที่อยู่ของนกมากกว่า 500 สายพันธุ์ รวมถึงนกอินทรีทะเลหัวนวล ไก่ฟ้าเขาแดง, นกเงือก, นกจู๋เต้นลายจุด นกกระเบื้องผา, นกคัคคูมรกต นกไต่ไม้ และนกกระสาท้องขาว ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
ในเทศกาลนี้การแสดงทางวัฒนธรรมและดนตรีบรรเลงโดยวงดนตรี นักเต้นและนักร้องท้องถิ่น การเต้นรำสวมหน้ากาก และการแสดงดนตรีพื้นเมืองของภูฏาน มีแผงขายอาหารที่นำเสนออาหารท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ เช่น kharang (โจ๊กข้าวโพด) ปลารมควัน หน่อไม้ ผักดอง ผลไม้และซีเรียล และ tongpa -เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากข้าวสาลี-เสิร์ฟในภาชนะไม้ไผ่ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
ผู้เยี่ยมชมยังสามารถเข้าร่วมการแข่งขันวาดภาพและเล่นเกมแบบดั้งเดิม และเพลิดเพลินกับการเดินป่าไปตามเส้นทางดูนกที่สวยงาม นอกจากนั้นยังเลือกไปแช่บ่อน้ำพุร้อนเพื่อการบำบัดและตกปลาเพื่อความบันเทิง (จับและปล่อย) โดยใช้กับดักในท้องถิ่นหรืออุปกรณ์ฟลายฟิชชิ่ง และยังสามารถไปล่องแก่งในลุ่มน้ำ Mangde Chhu และ Drangme Chhu ได้อีกด้วย
เทศกาลสุดท้ายของปี ในทุกวันที่ 13 ธ.ค. ที่ Dochula Pass ห่างจากเมืองทิมพูเพียง 45 นาทีโดยทางรถยนต์ ท่ามกลางฉากหลังอันน่างดงามอย่างน่าทึ่งของเทือกเขาหิมาลัย มีการเต้นรำอันศักดิ์สิทธิ์มากมาย เพื่อบอกเล่าถึงความกล้าหาญและความเสียสละของกองทัพหลวงภูฏาน ช่วงเทศกาลจะมีการเต้นรำอันเป็นเอกลักษณ์หลายอย่าง แตกต่างจากเทศกาลทางศาสนาอื่นๆ ทั่วประเทศ
รวมถึง Gadpo และ Ganmo ถือเป็นเต้นรำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งในเทศกาลนี้ เป็นการเต้นรำของชายและหญิงสูงอายุ การเต้นรำของวีรบุรุษ และการเต้นรำของเทพผู้พิทักษ์ จัดแสดงเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้พิทักษ์หลักเทพแห่งธรรม
สำหรับการเดินทางเข้าภูฏาน การยื่นขอวีซ่าหรือใบอนุญาตไปภูฏานนั้น นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องมีวีซ่าและใบอนุญาตก่อนเดินทางไปภูฏาน โดยสมัครทางออนไลน์หรือผ่านทางบริษัททัวร์ภูฏาน ใช้เวลาราว 5 วันในการดำเนินการ และทุกคนจะต้องชำระค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Fee - SDF) ของภูฏานเป็นจำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อคืน (มีอัตราลดหย่อนสำหรับเด็ก)
รวมถึงค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่า 40 ดอลลาร์สหรัฐ จะใช้ได้เพียง 1 ครั้ง และไม่สามารถขอคืนได้ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDF) เป็นทุนสนับสนุนโครงการด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษาทั่วประเทศภูฏาน ดูข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊กที่นี่
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,965 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567