โลกแห่งธุรกิจในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของวงการเทคโนโลยีและดิจิทัล มวลความรู้ทางการจัดการธุรกิจใหม่ ๆ จึงถูกพัฒนาขึ้นตามไปด้วย ขั้นตอนการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ อย่างการเริ่มต้นจากการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการขึ้นมาก่อน แล้วค่อยตามหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Potential customer) ภายหลัง อาจเป็นวิธีการที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ SMEs อีกต่อไป
นางสาวดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำว่า เพื่อรักษาทรัพยากร จัดสรรเงินทุน และใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจ SMEs ควรประยุกต์ใช้แนวคิดธุรกิจที่แพร่หลายในปัจจุบันอย่าง Lean Startup หรือการให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าของสินค้าหรือแบรนด์เป็นหลัก โดยยึด 3 คอนเซ็ปต์หลักคือ สร้าง วัดผล และเรียนรู้ (Build – Measure – Learn)
เริ่มต้นจาก สร้าง (Build) คือการทำความเข้าใจและสำรวจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าต้องการอะไร เพื่อนำไอเดียมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง แล้ว วัดผล (Measure) ภายหลังจากพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ ควรกำหนดตัวชี้วัดอย่างมีหลักการชัดเจน หมั่นเก็บข้อมูลและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคผ่านการทำแบบสอบถามวัดความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายและข้อมูลทางสถิติต่าง ๆ เพื่ออัปเดตมุมมองใหม่ ๆ อยู่เสมอ และ เรียนรู้ (Learn) นำข้อมูลที่ได้จากการวัดผลมาวิเคราะห์ ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและมองหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
นอกเหนือจากการปรับตัวทางธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการถือเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นหลักที่นำพาให้องค์กรก้าวต่อไปในยุคสมัยที่ทัศนียภาพทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อธุรกิจและพนักงานต้องการที่พึ่ง ผู้ประกอบการควรเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยน Mindset ที่มีต่อ องค์กร บุคลากร และลูกค้า เพื่อเป็นหลักยึดและให้สามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างมืออาชีพ
ด้านองค์กร – เมื่อประกอบธุรกิจในยุคดิจิทัล ธุรกิจเริ่มขับเคลื่อนและเรียนรู้จากการศึกษาข้อมูล ผู้ประกอบการต้องติดตามความเคลื่อนไหวของวงการดิจิทัล การพัฒนาของเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยี พร้อม เปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ และ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ อาทิ โซเชียลมีเดีย การจัดการข้อมูลบน Cloud Collection มีการ ใช้เครื่องมือวัดผลทางดิจิทัล อาทิ Google Analytics ที่ถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยม มาประยุกต์ใช้ศึกษาพฤติกรรมทางดิจิทัลของผู้บริโภค นำ insight ที่ได้มาต่อยอด สร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่นอกจากจะสร้างประโยชน์ให้ทั้งลูกค้าและองค์กรในระยะยาวได้แล้ว ยังมีประสิทธิภาพและสามารถนำกลับมาทำซ้ำได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจวัฎจักรของธุรกิจ เมื่อประสบพบเจอกับปัญหา ต้อง เตรียมพร้อมแก้ปัญหาและเริ่มต้นใหม่ อยู่เสมอ
ด้านบุคลากร – ในยุคดิจิทัล ลักษณะงานและรูปแบบการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการต้องรู้จักรักษาบุคลากรคุณภาพผ่าน การพัฒนาทักษะพนักงาน เพิ่มเติมความรู้ทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีให้แก่พนักงาน อาทิ การใช้งาน Cloud หรือ การใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อการตลาด พร้อมพิจารณา เพิ่มความยืดหยุ่นให้พนักงาน เพื่อปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เปิดโอกาสให้พนักงานทำงานที่บ้านท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด การให้สิทธิวันพักร้อนที่ยาวนานกว่าเดิม เมื่อถึงเวลามองหาบุคลากรใหม่ ต้องยึดหลักการ สร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ มีความรู้รอบด้าน ทั้งทักษะด้าน Hard Skill และ Soft Skill สามารถบริหารจัดการเวลา บริหารงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำงานเป็นทีมหรือทำงานทดแทนบุคลากรในส่วนที่ขาดได้ จดจำ ให้ความสำคัญ และตอบแทนพนักงาน ที่พร้อมฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปพร้อมกับองค์กร ผ่านค่าตอบแทนและสวัสดิการที่คุ้มค่าและสมเหตุสมผล หมั่นสำรวจปัญหาความขัดแย้ง ความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน และนำมาปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความผูกพันต่อองค์กรและผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงานสูงสุด
ด้านลูกค้า – เมื่อผู้ประกอบการนำเอาหลักการ Lean Startup มาปรับใช้โดย ให้ความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้งต้น องค์กรจะรู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง และสามารถนำมาพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อสร้างรายได้และทำกำไรต่อยอดธุรกิจได้ในที่สุด
หลายธุรกิจเริ่มต้นจากความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงวิธีการดำเนินการต่าง ๆ คงหนีไม่พ้นการสร้างความพึงพอใจและความประทับใจเพื่อต่อยอดสูงสุดให้แก่ลูกค้าเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าธุรกิจ SMEs จะเริ่มจากลูกค้า แต่ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจ SMEs จะมีความจำเป็นต้องลงทุนมหาศาลเพื่อ Customer Relationship Management (CRM) หรือกลยุทธ์การบริหารลูกค้าที่ดีที่สุด
ธุรกิจ SMEs สามารถรักษาฐานผู้บริโภคผ่านวิธีการต่าง ๆ อาทิ การสร้างคุณค่าเพิ่มให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกพอใจมากกว่ามูลค่าที่ใช้จ่ายการบริการก่อนและหลังการขายอย่างจริงใจ เต็มใจ และเป็นกันเอง รวมถึงการใช้ Call Center การใช้โปรแกรมส่งเสริมการขายที่หวังผลระยะยาว ฯลฯ หากธุรกิจพัฒนาและประสบความสำเร็จมากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาขยับขยายเพื่อลงทุนใน CRM โดยจะต้องสามารถระบุให้ได้ว่าลูกค้าขององค์กรคือใครและมีพฤติกรรมอย่างไร ลูกค้าเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในระดับใด เป็นลูกค้าประจำ หรือมีความจงรักภักดี กับตราสินค้าขององค์กรหรือไม่ หรือเป็นผู้ที่ใช้สินค้า และบริการหลากหลาย เป็นต้น เพื่อให้การลงทุน CRM เกิดประสิทธิภาพและเป็นการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าที่สุดแก่องค์กร
บทสรุปคัมภีร์ช่วยธุรกิจ SME ให้รอดในยุคดิจิทัล
ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมต้องการการปรับตัวของทั้งฝ่ายองค์กรและผู้ประกอบการเพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ ทางฝ่ายองค์กรธุรกิจ SMEs หรือสตาร์ทอัพ ที่อาจมีข้อจำกัดทางด้านเงินทุนและทรัพยากรอื่น ๆ สามารถนำหลัก Lean Startup หรือการทำธุรกิจแบบ “น้อยแต่มาก” มาประยุกต์ใช้ โดยให้ความต้องการของลูกค้าเป็นตัวจุดประกายสำคัญ อาจเริ่มต้นจากการสร้างอย่างน้อย ๆ เท่าที่จำเป็น ภายใต้งบประมาณที่มี ตามด้วยการปรับปรุงและพัฒนาทีละขั้นอย่างต่อเนื่องผ่านการเรียนรู้ หาข้อมูล
ทั้งนี้ ทางด้านผู้ประกอบการควรมีการปรับแนวคิดและการบริหารองค์กร บุคลากร และลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กันไป