“เขาคิชฌกูฏ” จ.จันทบุรี จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่แสวงบุญ ที่ผู้คนทั้ง สายบุญ สายมู ต่างปักหมุด และมุ่งมั่นว่าสักครั้งในชีวิต ถึงแม้เส้นทางจะลำบาก และเปิดให้ขึ้นเขาไปสักการะรอยพระพุทธบาทได้เพียง 2 เดือนต่อปีเท่านั้น ในทุกวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ซึ่งในปี 2566 นี้ ตรงกับวันที่ 22 มกราคม ถึง 22 มีนาคม 2566
แต่ทุกครั้งที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ เปิดให้นมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) ก็จะมีพุทธศาสนิกชนและประชาชนขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย เพื่อเสริมสิริมงคลในชีวิตอยู่เสมอ
งานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี จึงถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานหลายสิบปี โดยมีความเชื่อว่าการเดินป่าขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏจะได้บุญสูง ช่วยฝึกจิตใจฝึกความมานะอดทนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทั้งการได้มากราบไหว้ ขอพรรอยพระพุทธบาท ก็เปรียบเหมือนได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยความที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ มีพื้นที่ถึง 36,444.05 ไร่ ยอดเขาคิชฌกูฏ หรือ เขาพระบาท เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,096 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น ยกเว้นบริเวณยอดเขาเป็นป่าดิบเขา ทำให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า รวมถึงพันธ์ุไม้ป่านานาชนิด อย่าง ยาง กระบาก ตะเคียน สำรอง ชุมแพรก
ทำให้ก่อนเริ่มเทศกาลนมัสการรอยพระบาทพลวง จะต้องมีพิธีบวงสรวง “ปิดป่า-เปิดเขา” โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธี เริ่มต้นด้วยชุมนุมเทวดา อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่บนเขาพระบาทมาเป็นสักขีพยานรับเครื่องสังเวยขอให้ช่วยปกป้องอภิบาลรักษาผู้มานมัสการให้พ้นจากอันตราย และช่วยดลจิตผู้คิดไม่ดี ผู้กระทำชั่วให้ไม่อยากขึ้นไป
การขึ้นเขาคิชฌกูฏ สามารถขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขึ้นกับความสะดวกและความพร้อมความฟิตของร่างกาย แต่หากมาช่วงกลางคืน แนะนำให้ติดเสื้อกันหนาวเผื่ออากาศเย็น
การเดินทางไปนมัสการรอยพระบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ ให้ใช้ถนนสุขุมวิท เลี้ยวแยกซ้ายที่สี่แยกเขาไร่ยาไปตามทางหลวงหมายเลข 3249 ระยะทาง 24 กิโลเมตร จะถึงอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ
ด้วยเส้นทางที่คดเคี้ยวและเส้นทางที่ค่อนข้างอันตราย ทำให้การเดินทางขึ้นไป เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี ต้องอาศัยการขับรถที่ชำนาญทาง เพื่อไม่ก่อให้เกิดความอันตรายจึงไม่อนุญาตให้ขับรถขึ้นไปเอง เราจึงต้องเลือกว่าจะไปใช้บริการต่อคิวรถของชาวบ้านที่ไหนระหว่าง “วัดพลวง” หรือ “วัดกะทิง” ซึ่งรถก็จะวิ่งขึ้นเขาไปถึงจุดเริ่มต้นทางเดินทางเท้าขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาท
โดยทริปนี้เราไปต่อรถขึ้นเขาคิชฌกูฏ กันที่ “วัดพลวง” เสียค่าใช้จ่ายไป-กลับ คนละ 200 บาท (ดูเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก เขาพระบาทพลวง จันทบุรี) ไม่ต้องจองคิวผ่านแอปพลิเคชั่น KCKQue ให้วุ่นวาย มาถึงคิวรถจ่ายเงินก็ขึ้นเขาได้เลย
ระหว่างทางรถขึ้นเขา วิบากสุดๆ แต่ด้วยทางรถวิ่งก็ถูกขยายให้กว้างพอจะวิ่งรถสวนกันได้ ก็ทำให้การขึ้นเขามีความสะดวกกว่าแต่ก่อนมาก
ทั้งระหว่างทางที่เรานั่งรถขึ้นมา ก็จะเห็นผู้คนบางคนเลือกที่จะเดินขึ้นเขาตั้งแต่จุดที่รถเริ่มวิ่งขึ้นเขาถึงจุดต้นทางเดินเท้า ระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร ถือว่าแรงศรัทธามาเต็มที่
ขนาดเรานั่งรถขึ้นมาก็ทุ่นเวลาเดินไปได้มากแล้ว ก็ยังใช้เวลาเดินทางจากจุดเริ่มต้นทางเดินเท้าไปถึงยอดเขา ระยะทางไป-กลับ 3 กิโลเมตร ก็ยังใช้เวลาไป-กลับ ร่วม 3 ชั่วโมงกว่าเข้าไปแล้ว
ระหว่างทางเดินทางเท้าขึ้นเขา เส้นทางที่เดินขึ้นไปจะเป็นทางเดินเข้าป่าธรรมดาสลับกับบันไดและระเบียงไม้ในจุดลาดชันและหินก้อนใหญ่ ในแต่ละเส้นทางที่เดินขึ้นไป ก็จะมีจุดพักเพื่อแวะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นระยะ
อาทิ ลานพระสีวลี พระนอน เนินพระเมตตา
ประตูสวรรค์ ผ่านอนุสาวรีย์รูปปั้นของพระเจ้าตากสินมหาราช ก็จะถึงบริเวณหินก้อนใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของรอยพระพุทธบาท จุดหมายสำคัญของการเดินทางมาขึ้นเขาคิชฌกูฏ ที่ผู้คนต่างมาอธิษฐานขอพร
การอธิษฐานบางคนก็ขอพรในหลายเรื่อง แต่บางคนก็ขอเพียง 1 ข้อ เพื่อแสดงถึงความปรารถนาอันแรงกล้า ที่อยากจะสมหวังในพรที่ขอมากที่สุด
กราบสักการะรอยพระพุทธบาทแล้ว จากนั้นเราก็ยังสามารถเดินเท้าต่อไปยังบริเวณ “ลานผ้าแดง” จุดเขตแดนบนเขาคิชฌกูฏ เพื่อเขียนคำอธิษฐานลงบนผ้าด้วยความเชื่อที่ว่าคำขอจะเป็นจริงได้
เดิมผ้าแดงเหล่านี้แขวนไว้เพื่อบ่งบอกถึงความอันตรายของพื้นที่ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นจุดสิ้นสุดเขตแดนบนเขาคิชฌกูฏที่มีความลาดชันมาก แต่หลังจากมีคนเริ่มเขียนข้อความอธิษฐานมากเรื่อย ๆ ที่นี่ก็กลายเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญเมื่อเดินทางขึ้นไปเขาคิชฌกูฏ
นอกจากนี้ในระหว่างที่เดินขึ้นไปยังลานผ้าแดงจะเป็นมุมสูงที่สามารถมองย้อน กลับมายังลานพระบาทได้อย่างสวยงาม ถือเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวแลนด์มาร์กสำคัญที่คุณไม่ควรพลาด
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,863 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566