ล่าสุด “สถานีรถไฟหัวหิน”แห่งใหม่ ได้เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยตัวอาคารเป็นลักษณะอาคาร 3 ชั้นขนาดใหญ่ มีชั้นใต้ดินออกแบบให้สอดรับกับสถานีหัวหินเดิม
อาคารสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ เป็นสถานียกระดับที่มีทางเดินใต้สถานีแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งอาคารสถานีฯ มีความพร้อมด้านความปลอดภัย 100 % มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันครอบคลุมผู้ใช้งานทุกลุ่ม โดยการออกแบบยังคงเอกลักษณ์ของสถานีเดิมตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย คำนึงถึงความสวยงาม และการมีส่วนร่วมอนุรักษ์บรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่
โดยตัวอาคารเป็นลักษณะอาคาร 3 ชั้นขนาดใหญ่ มีชั้นใต้ดินออกแบบให้สอดรับกับสถานีหัวหินเดิม มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งลิฟต์ บันไดเลื่อน บันไดทางขึ้นลง บันไดหนีไฟ ห้องสุขา ห้องพักรอสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ห้องให้นมบุตร ห้องรับฝากสิ่งของ ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ รวมทั้งพื้นที่ใช้สอยสำหรับประชาชน นักท่องเที่ยว สามารถข้ามมาใช้อาคารแห่งใหม่จากสถานีเดิม ทั้งชานชาลาที่ 1 และ 2 จะมีบันไดเลื่อนลงไปชั้นใต้ดินเพื่อไปอาคารใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างทดสอบระบบ
ปัจจุบันมีการเดินรถ (ไป- กลับ) จำนวน 28 ขบวน เป็นการเดินรถด้วยทางคู่ ทำให้เส้นทางกรุงเทพ - หัวหิน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นทางเลือกการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่สะดวก ปลอดภัย ลดเวลาการเดินทาง และเลี่ยงการจราจรติดขัดช่วงเทศกาล ทั้งนี้ สถานีรถไฟหัวหินมีการเชื่อมต่อการเดินทาง (feeder) กับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ที่สะดวก
ส่วนอาคารสถานีเดิมซึ่งเปิดใช้งานมา 112 ปี ยังคงอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูป เช็กอินภายในสถานีรถไฟหัวหิน เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของการท่องเที่ยวหัวหิน ซึ่งมีแผนจะพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ต่อไป
ทั้งการรถไฟฯ ดูแลการให้บริการแก่ผู้โดยสาร และประชาชนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการภายในสถานีรถไฟหัวหินให้ได้รับความสะดวกสูงสุด โดยเฉพาะในส่วนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาถ่ายรูปความสวยงามของสถาปัตยกรรมสถานีหัวหินเดิมจำนวนมาก จะต้องไม่กระทบต่อการใช้บริการแก่ผู้โดยสาร ซึ่งในการเปิดให้บริการสถานีหัวหินแห่งใหม่นี้ จะช่วยลดความแออัดและเพิ่มความสะดวกในการเดินทางได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ยังขอให้การรถไฟฯ ช่วยดูแลอนุรักษ์สถานีรถไฟหัวหินให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกับเปิดกว้างให้หน่วยงานต่างๆ ติดต่อเข้าใช้สถานีรถไฟหัวหิน เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ และร่วมอนุรักษ์สถานีไปพร้อมๆ กันด้วย
หากย้อนเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของสถานีรถไฟแห่งนี้คือ พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ สถานีรถไฟหัวหินแห่งแรก สร้างราว พ.ศ. 2453 แม้จะผ่านมา 100 ปีแล้ว แต่ยังอยู่ในสภาพที่สวยงาม ควรแก่การอนุรักษ์
ต่อมาได้สร้างอาคารสถานีรถไฟหัวหินขึ้นใหม่ ที่เห็นในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2469 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการรถไฟแห่งกรุงสยาม อาคารสถานีรถไฟหัวหินเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ อิทธิพลจากสถาปัตยกรรมวิคทอเรีย ประเทศอังกฤษ ลงสีด้วยโทนครีม ตัดกับสีแดง ตัวอาคารมีลวดลายสวยงามประดับเสาค้ำยัน อันวิจิตร
สำหรับพลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกแบบเป็นพลับพลาจัตุรมุข ใช้ในการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประทับทอดพระเนตร กองเสือป่า และลูกเสือทั่วประเทศทำการฝึกซ้อมยุทธวิธีเป็นประจำทุกปี
ภายหลังจากสิ้นรัชสมัยของพระองค์ การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้รื้อถอนมาเก็บไว้ และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ต่อมาในปี พ.ศ.2511 จึงได้มีการนำเครื่องอุปกรณ์ก่อสร้างของพลับพลาสนามจันทร์มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่หัวหินดังกล่าว
ทั้งนี้เพื่อเป็นที่ประทับขึ้นและลงรถไฟของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมตั้งชื่อใหม่ว่า "พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ" ซึ่งถือเป็นสถานีรถไฟที่เชิดหน้าชูตาของชาวอำเภอหัวหิน และยังเป็นที่เก็บหัวรถจักรไอน้ำเก่าที่การรถไฟฯ สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ อีกทั้งยังเคยวิ่งให้บริการในเส้นทางรถไฟ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย
ทั้งนี้การเดินทางที่จะมาหัวหิน อาจจะมีทั้งรถส่วนตัว ทั้งรถไฟ แต่หลายๆคนคงลืมไปแล้วยังมีรถไฟให้ใช้บริการจากกรุงเทพมาถึงหัวหินกันอยู่แม้อาจเป็นการเดินทางที่อาจจะช้า แต่ก็เป็นการเดินทางที่ถึงชัวร์และปลอดภัยมากที่สุด การเดินทางรถไฟในตอนเช้า