ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 อลังการมรดกแห่งวัฒนธรรมไทย

27 ส.ค. 2567 | 22:00 น.

ความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นี้

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นี้ เป็นอีกหนึ่งในพระราชพิธี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวง ครบ 6 รอบ ที่คนไทยทุกคนเฝ้ารอคอย

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567

พระราชประเพณีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเรือพระราชพิธี คือ เรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ เป็นที่ประทับในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และเพื่อประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เราจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกครั้งในปีนี้ ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นี้

การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ใช้เรือพระราชพิธี จำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 อลังการมรดกแห่งวัฒนธรรมไทย

รวมทั้งสิ้น 2,200 นาย โดยประชาชนสามารถรับชมความงดงามของเรือพระราชพิธีได้ตลอดทั้ง 2 ฝั่ง ของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 ไปจนถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

เรือไฮไลท์ในขบวนเรือพระราชพิธี ที่หลายคนรอชมความงาม คงหนีไม่พ้น เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 อลังการมรดกแห่งวัฒนธรรมไทย

โดยกองทัพเรือ ได้อัญเชิญเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ ลงน้ำตามลำดับ เพื่อทยอยซ้อมย่อยอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำลังพลในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และฝีพายเรือพระราชพิธี จำนวน 2,200 นาย เริ่มขบวนตั้งแต่ท่าวาสุกรีไปจนถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 อลังการมรดกแห่งวัฒนธรรมไทย

ทั้งนี้ประชาชนที่มีความสนใจรับชมการฝึกซ้อมฝีพายและความงดงามของขบวนเรือพระราชพิธี สามารถรับชมได้ตลอด 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ประชาชนสามารถชมการซ้อมย่อย แบบรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงเวลาที่เหลือได้ ในวันที่ 3 กันยายน 2567 ,วันที่ 12 กันยายน 2567 ,วันที่ 19 กันยายน 2567 ,วันที่ 26 กันยายน 2567 ,วันที่ 1 ตุลาคม 2567 และวันที่ 10 ตุลาคม 2567 และจะมีการซ้อมใหญ่ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 , วันที่ 22 ตุลาคม 2567 เวลา 14.00-18.00 น. ก่อนถึงวันพระราชพิธี เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินในวันที่ 27 ตุลาคมนี้

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 อลังการมรดกแห่งวัฒนธรรมไทย

เรือพระราชพิธีในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้ง 52 ลำ ประกอบไปด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 , เรือรูปสัตว์ 8 ลำ อาทิ อสุรวายุภักษ์-อสุรปักษี , เรือคู่ชัก 2 ลำ, เรือพิฆาต 2 ลำ, เรือประตูหน้า 2 ลำ, เรือกลอง 2 ลำ, เรือแซง 7 ลำ, เรือตำรวจ 3 ลำ และเรือดั้ง 22 ลำ

“เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์”

เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง หรือ เรือพระที่นั่งชั้นสูงสุด แกะสลักโขนเรือเป็นรูปหงส์ เป็นลำทรงของพระมหากษัตริย์ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เดิมชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ทราบได้จาก บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ที่ส่งประพันธ์ไว้ว่า “สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม”

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

สำหรับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 โขนหัวเรือเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่จามรีห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาหรือบุษบกสำหรับเป็นที่ประทับ มีความยาว 44.40 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึก 0.94 เมตร ใช้ฝีพาย 50 คน

ทั้งนี้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ยังได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก จากองค์การเรือโลก (WORLD SHIP TRUST) แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2535 อีกด้วย

“เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช”

เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง เป็นเรือพระที่นั่งบัลลังก์ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค โดยปกติจะใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง หรือเรือเชิญผ้าพระกฐิน และประดิษฐานบุษบกสำหรับพระพุทธรูปสำคัญซึ่งมีโขนเรือเป็นรูปพญานาค 7 เศียร สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3

ทรงพระราชดำริว่าพระที่นั่งครุฑของเดิมก็มีอยู่แล้ว แต่พระที่นั่งนาคยังหามีไม่ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำเรือพระที่นั่งนาคา 7 เศียรนี้ขึ้น

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

ส่วนลำปัจจุบันสร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2475 โดยได้รับการซ่อมแซมอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2510 ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 42.95 เมตร กว้าง 2.95 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร ใช้ฝีพาย 54 คน

“เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์”

ลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซ่อมแซมใหม่ในปี 2510 ชื่อเรือมาจากคำภาษาสันสกฤต ว่า อเนกะชาตะภุชงคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆจำนวนมาก คำว่า ภุชงคะ ในภาษาสันสกฤต มีความหมายเดียวกันกับคำว่า นาคะ หรือ นาค ในภาษาไทย

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 อลังการมรดกแห่งวัฒนธรรมไทย

โดยนาคที่เป็นเทพหรือทิพยนาค เป็นตัวแทนแห่งพลังอำนาจ ความรอบรู้ และความอุดมสมบูรณ์ ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 45.50 เมตร กว้าง 3.15 เมตร กินน้ำลึก 0.46 เมตร ใช้ฝีพาย 61คน

“เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ”

เป็นเรือสร้างน้อมเกล้าฯ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อปี 2539 โดยกองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร ด้วยการนำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ

โดยโขนเรือและตัวเรือจำหลักลงรักปิดทองประดับกระจก ที่หัวเรือเบื้องใต้ครุฑเป็นช่องสำหรับปืนใหญ่ กลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและมีแท่นประทับ เรือมีความยาว 44.3 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 1.10 เมตร กินน้ำลึก 40 เซนติเมตร มีฝีมือพาย 50 นาย

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

การจัดริ้วกระบวนได้แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ ขบวนพยุหยาตราใหญ่ และขบวนพยุหยาตราน้อย ซึ่งเรือพระที่นั่ง จะแวดล้อมไปด้วยริ้วขบวนเรือของขุนนาง และทหารในกอง กรมต่างๆ ที่เรียกว่าเรือหลวง มีการจัดเรียงลำดับเรือต่างๆ ตามแบบแผนของการจัดทัพที่มีมาแต่โบราณ แบ่งออกเป็น 5 ตอน 

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 อลังการมรดกแห่งวัฒนธรรมไทย

ได้แก่ ขบวนนอกหน้า ขบวนในหน้า ขบวนเรือพระราชยาน ขบวนในหลัง และขบวนนอกหลัง เต็มไปด้วยความสวยงาม ความโอ่อ่าตระการตา และความมีระเบียบสมกับเป็นประเพณีของชาติ ที่มีอารยธรรมอันสูงส่งมาแต่โบราณกาล

เตรียมนับถอยหลังรอชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

Cr : ภาพ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)