นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยถึง กระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมพิจารณาการจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนรายย่อยที่มีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน ในอัตรา 0.11% จากยอดธุรกรรม นั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาของกระทรวงการคลัง ซึ่งยังไม่ได้มอบนโยบายในเรื่องดังกล่าวมาที่กรมสรรพากร แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่ายังต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างรอบด้าน และคงยังไม่นำมาบังคับใช้เร็วๆนี้
“ยังต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน รวมทั้งดูเรื่องของความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ส่วนจะบังคับใช้เมื่อไหร่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ยังต้องรอนโยบายจากกระทรวงการคลัง ซึ่งยังต้องรอผลการศึกษาและข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่เชื่อว่าจะยังไม่นำมาบังคับใช้เร็วๆ นี้” โฆษกกรมสรรพากร กล่าว
โฆษกกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจะมีการจัดเก็บภาษีเงินได้จากหุ้นปันผล เพราะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้จ่าย หรือ บริษัทผู้จ่ายเงินปันผลจะทำการหักภาษีในอัตรา10% ของเงินได้เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ส่วนผู้ได้รับเงินปันผลมีสิทธิที่จะเลือกนำเงินปันผลดังกล่าว มายื่นแบบภาษีรวมกับเงินได้อื่นๆ หรือ เลือกไม่เอามารวมก็ได้ เพราะถือว่าได้โดนหักภาษีไว้แล้วเหมือนดอกเบี้ยเงินฝาก
ขณะที่การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563 ซึ่งสิ้นสุดการยื่นไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นั้น โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า มีจำนวนผู้ที่ยื่นขอคืนภาษี 3.6 ล้านคน ซึ่งล่าสุดกรมได้ทำการคืนภาษีไปแล้วประมาณ 3.188 ล้านคน หรือประมาณเกือบ 90% ของผู้ที่ยื่นภาษี คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 31,800 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินคืนที่ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ประชาชนได้นำกลับไปใช้จ่าย ทั้งนี้พบว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการหันมายื่นภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น หรือคิดเป็น 93% จากจำนวนผู้ยื่นภาษีทั้งหมด