30 กันยายน 2564 จะครบกำหนดของการขยายเวลาการใช้อัตราภาษี สำหรับบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกไม่เกินซองละ 60 บาท ในอัตราภาษี 20% จากเดิมที่จะต้องใช้อัตราภาษีที่ 40% ซึ่งเป็นพิกัดอัตราภาษีที่ใช้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 แต่พบว่า มีจุดอ่อนที่เปิดโอกาสให้บริษัทบุหรี่ลดราคาขายปลีกลงมาต่ำกว่าซองละ 60 บาท เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอพิจารณาจากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ซึ่งหลักในการพิจารณาจะประกอบด้วย 4 ด้าน คือ การดูแลเกษตรกร สุขภาพของประชาชน การปราบปรามบุหรี่เถื่อนและการจัดเก็บรายได้ของกรม
ทั้งนี้ทุกด้านจะต้องมีความสมดุลกัน ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งคาดว่า จะนำเรื่องโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน เพื่อให้ทันบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2564
“โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ยืนยันว่าจะไม่ทำให้รายได้ของกรมต่ำกว่าปัจจุบันที่มีรายได้จากภาษีบุหรี่อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท/ปี แน่นอน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่อัตราภาษีใหม่จะถูกลง แต่จะเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้น ยังต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง” นายลวรณกล่าว
ส่วนการจัดเก็บภาษียาเส้น ซึ่งขณะนี้ มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มภาษีให้สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับการจัดเก็บภาษีบุหรี่ เนื่องจากปัจจุบันอัตราภาษีห่างกัน 6-7 เท่า ซึ่งส่งผลให้ราคายาเส้นขายถูกอยู่ที่ 10-12 บาท/ซองนั้น ยอมรับว่า มีการหารือในประเด็นดังกล่าว แต่อาจยังใช้อัตราภาษีเดิม เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้สูบ ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยปัจจุบันยาเส้นจัดเก็บภาษีตามปริมาณการจำหน่ายคือ 12,000 กิโลกรัมขึ้นไป อัตราภาษีอยู่ที่ 0.25 บาท/กิโลกรัม และหากต่ำกว่า 12,000 กิโลกรัม อัตราภาษีจะอยู่ที่ 0.10 บาท/กิโลกรัม